เลือนรางจวนจะจางหาย: ครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม
การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน โดยกลุ่มทหารและพลเรือนรุ่นใหม่ที่มีความคิดความอ่านอย่าง “คณะราษฎร”
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2470 ณ บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอร์รา ฝรั่งเศส ชายหนุ่ม 7 คนต่างพื้นเพ แต่จุดที่ทั้งเจ็ดคนมีร่วมกันคือปณิธานอันแรงกล้าที่จะปฏิวัติระบบการปกครองอันผุพัง หลังจากนัดพบเพื่อประชุมหารือทางออกในการปฏิวัติกันเป็นแรมปี และได้แยกย้ายกลับมาทำภารกิจส่วนตนที่ประเทศสยาม พวกเขาก็ได้ตกลงกันว่าจะทำการปฏิวัติในเวลาอรุณย่ำรุ่งในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
การเกิดขึ้นมาของเหตุการณ์พลิกแผ่นดินอย่างการปฏิวัติ 2475 ไม่ได้มีที่มาที่ไปเพียงเพราะทหารและพลเรือนหนุ่มกลุ่มหนึ่งมีความไม่พอใจต่อการปกครองของชนชั้นนำ แต่มีมูลเหตุปัจจัยทั้งจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเข้ามาทำปฏิกิริยาจนเกิดการปะทะระหว่างขั้วอำนาจเก่า-ใหม่ นี้ขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงส่งผลให้สยามเปลี่ยนจากระบอบเศรษฐกิจแบบยังชีพเป็นการค้าแบบทุนนิยม ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมากในระบบ จึงเป็นเหตุให้มีการเลิกทาส เศรษฐกิจการค้าของไทยจึงตอบรับสอดประสานกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย รัฐเก็บภาษีเพิ่มจากไพร่ฟ้า ผลสะท้อนกลับนั้นย่อมมีแต่เสียงก่นด่า
เมื่อสนธิสัญญาเบาว์ริงได้เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศสยาม ระบอบเศรษฐกิจก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป บวกกับการปฏิวัติรูปแบบการปกครองในปี 2435 ทำให้ชนชั้นกลางได้ก่อร่างสร้างตัวในสังคม พวกเขามีโฉมหน้าเป็นทั้งข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน พ่อค้าวานิชย์ นักปราชญ์บัณฑิต ซึ่งผู้คนเหล่านี้ล้วนเป็นพลังสังคมในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แกนนำคณะราษฎรล้วนเป็นชนชั้นกึ่งกลาง พวกเขารับรู้ว่าระบอบการปกครองแบบเก่าทรุดโทรมอย่างไร เห็นว่าชาวบ้านรากหญ้าประสบกับการกดขี่อย่างไร การอภิวัฒน์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ได้ส่อเค้าแววมาตั้งแต่ร.ศ. 103 ชนชั้นนำเริ่มคำนึงถึงรัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศ โดยเจ้านายรวม 11 คนได้เสนอให้มีการปฏิรูปการปกครองให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไพร่ฟ้าเองก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำ ยกตัวอย่างเช่น เทียนวรรณ วัณณาโภวิจารณ์ชนชั้นนำที่กดขี่ขูดรีด ต่อต้านการเกณฑ์แรงงาน และเสนอให้มีรัฐสภา ขจัดปัญหาการผูกขาดการบริหารประเทศชาติที่สงวนไว้ให้แค่ราชสำนัก ทิม สุขยางค์ได้ตีพิมพ์ “นิราศหนองคาย” โดยเนื้อหานั้นวาดภาพความเลวร้ายของขุนนางและประชาชนที่ต้องทนทุกข์จากการถูกกดขี่
ต่อมาใน ร. 6 กบฏ ร.ศ. 130 นำโดยทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสาธารณรัฐ แต่โชคไม่ดีที่การปฏิวัติครั้งนี้มีผู้ไปแจ้งทางการก่อนที่จะมีการดำเนินการ ทำให้กลุ่มคนในขบวนการถูกจับ แต่ถึงกระนั้นความคิดและกระบวนการจากการปฏิวัติครั้งนี้ได้ก่อไฟให้กลุ่มทหารหนุ่มในอีก 20 ปีต่อมาความไม่พอใจต่อชนชั้นปกครองยังปรากฏในฎีกาของชาวนาชาวบ้านในช่วงทศวรรษที่ 2460-2470 เมื่อพิจารณาฎีกาบางชนิดก็จะพบว่าชาวบ้านมีความทันสมัยและกล้าหาญมากพอที่จะให้คำแนะนำการบริหารบ้านเมืองแก่กษัตริย์
ด้วยเหตุปัจจัยข้างต้นจึงนำมาซึ่งผลให้คณะราษฎรได้ทำการประกาศเปลี่ยนการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ยามอรุณย่ำรุ่ง ฝนตกโปรยปราย พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อ่านประกาศ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”
คณะราษฎรได้มอบสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิในการเลือกผู้แทนทางอ้อม ประมวลกฎหมายใหม่ยกเลิกการให้สิทธิพิเศษแก่อภิสิทธิ์ชน ยกเลิกกฎหมายหลายเมีย กฎหมายที่ให้สิทธิ์แก่บิดามารดาในการเลือกคู่ครองแก่ลูกสาว รัฐบาลคณะราษฎรยังทำให้มีเด็กที่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้เกือบสองล้านคน
ประชาชนได้ลิ้มรสประชาธิปไตยได้เพียง 15 ปี ก่อนจะเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 กลุ่มกษัตริย์นิยมได้กลับมาช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง โจมตีคณะราษฎรว่าชิงสุกก่อนห่ามผ่านวรรณกรรมที่ได้สร้างภาพผู้ร้ายให้แก่คณะราษฎร ได้แก่ โศกนาฏกรรมสาหัสแห่งเกาะเต่า แดนหก มีวรรณกรรมที่พยายามเบี่ยงเบนให้การสวรรคตของร.๘ เป็นฝีมือของคณะราษฎร เช่น ในหลวงอานันท์กับปรีดี บันทึกความจำกับกรณีสวรรคต และได้สร้างภาพความล้มเหลวของคณะราษฎรผ่านวรรณกรรมอันโด่งดังอย่าง สี่แผ่นดิน เป็นต้น (ใจจริง, 2556)
นอกจากนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีการพยายามลบคณะราษฎรออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ อย่างเช่น การเปลี่ยนวันชาติจาก 24 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ การพยายามเปลี่ยนชื่อสถานที่ที่คณะราษฎรเคยสร้างไว้ การอุ้มหายหมุดคณะราษฎร ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในแบบเรียนที่แทบไม่กล่าวถึงคณะราษฎรเลย
คณะราษฎรกับการปฏิวัติ 2475 จึงค่อย ๆ กลายเป็นความทรงจำเจือจางในหน้าประวัติศาสตร์ไทย พวกเขาอาจจะกลายเป็นแค่ชื่อที่เคยได้ยินผ่านหูในตำราเรียนของเด็กมัธยมปลาย เป็นตัวร้ายในความนึกคิดของกลุ่มกษัตริย์นิยม บทบาททหารหุนหันพลันแล่นชิงสุกก่อนห่ามที่พวกเขาต้องเล่นในเรื่องเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสอนไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ฉะนั้น การจดจำและการเขียนระลึกถึงคณะราษฎร ในฐานะผู้นำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยในโอกาสวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายนเวียนมาบรรจบจึงเป็นการทวงคืนความยุติธรรม คืนพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์ให้แก่คณะราษฎร
เจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และการวิเคราะห์ปรัชญาเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์. (2527). วารสารธรรมศาสตร์ 13 : 4, 55.
คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2560). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
ณัฐพล ใจจริง. (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ. ใน ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (หน้า 54-60). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2546). ความคิด ความรู้ และอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
Write to Raise
Writing and Translating as Ways to Protect and Promote Democracy
ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนิสิตที่มองเห็นปัญหาในสังคมรอบตัวและต้องการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ