Roe V. Wade และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของ birthing person

ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคม Write to Raise ขอเริ่มต้นการเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐอเมริกาด้วยบทความที่ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกายของปัจเจกกับการรื้อฟื้นการพิจารณาคดี Roe V. Wade ของศาลสูงสุดสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ศาลปกครองสูงสุดสหรัฐฯ ได้มีการกลับคำวินิจฉัยคดีความที่ชื่อว่า Roe V. Wade ซึ่งเป็นคดีที่ส่งผลให้การทำแท้งเสรีในสหรัฐฯ ถูกกฎหมาย ทั้งนี้คดีความดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1971 จากการฟ้องร้องของ เจน โร (Jane Roe) นามสมมุติของหญิงอายุ 26 ปีที่อาศัยอยู่ในรัฐเท็กซัส ต่อ เฮนรี่ เวด (Henry Wade) อัยการเขตในรัฐเดียวกัน ซึ่งโรได้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จึงเกิดข้อเรียกร้องนี้ขึ้นเพื่อตัวเธอและผู้ที่สามารถตั้งครรภ์ (birthing person) ทุกคน การฟ้องร้องของโร เกิดขึ้นเพื่อท้าทายกฎหมายห้ามทำแท้งของรัฐเท็กซัส ซึ่งทำให้การทำแท้งและการพยายามทำแท้งผิดกฎหมาย เว้นเสียแต่ว่าการตั้งครรภ์นั้น ๆ เป็นอันตรายต่อผู้อุ้มครรภ์

ข้อกล่าวหาของโรระบุว่าข้อกฎหมายของรัฐเท็กซัสนั้นละเมิด Privacy Rights ด้วยเหตุผล 3 ประการ

ประการแรก

ข้อกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพภายใต้บทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 ของรัฐธรรมนูญ (The Fourteen Amendment) ซึ่งว่าด้วยหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน

ประการที่สอง

ข้อกฎหมายของรัฐเท็กซัสละเมิดบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) ในด้านความเป็นส่วนตัวทางการสมรส ทางการสร้างครอบครัว และทางเพศ

ประการที่สาม

สิทธิในการทำแท้งเป็นสิทธิที่ไม่มีผู้ใดสามารถพรากไปจากผู้ทรงสิทธิ์ได้ ตามการตีความภายใต้บทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการมีกฎหมายลักษณะนี้จึงเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตามทางฝั่งรัฐเท็กซัสอ้างว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลพลเมืองทางด้านสุขภาวะทางร่างกายและปกป้องชีวิตพลเมืองรวมถึงชีวิตของตัวอ่อนที่จะกลายเป็นประชากรของรัฐด้วย แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะมิได้ระบุถึงช่วงเวลาที่ตัวอ่อนมีสถานะเป็น ‘บุคคล’ แต่รัฐเท็กซัสตีความว่าการเป็นมนุษย์ได้ถูกกำหนดตั้งแต่การตั้งครรภ์ ท้ายที่สุดศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้สร้างกรอบขึ้นเพื่อสร้างข้อตกลงให้กับทั้งสองฝ่าย โดยได้แบ่งเป็น 3 ไตรมาส ไตรมาสแรก ปัจเจกสามารถตัดสินใจทำแท้งได้อย่างเสรี ไตรมาสที่สอง รัฐอาจเข้ามาแทรกแซงได้โดยต้องมีเหตุผลอันสมควร ไตรมาสสาม รัฐสามารถควบคุมการทำแท้งได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อศาลปกครองสูงสุดพลิกคำวินิจฉัยคดีนี้โดยอ้างว่า

ในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการเขียนถึงสิทธิในการทำแท้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงถือว่าการทำแท้งไม่เป็นสิทธิที่ถูกปกป้อง

โดยบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 การกลับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการลิดรอนสิทธิพลเมืองอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสิทธิของ ผู้ที่สามารถตั้งครรภ์ อันนำไปสู่ผลลัพธ์ 3 ประการ

ประการแรก

มีการคาดว่ากว่า 26 รัฐจะแบนการทำแท้งเสรี และมีอีกหลายรัฐที่จะใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้นกับการทำแท้ง ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จำต้องเดินทางหลายร้อยไมล์และใช้เงินเพิ่มขึ้นในการทำแท้ง ทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงการทำแท้งน้อยกว่า นำไปสู่การมีบุตรทั้งที่ไม่พร้อม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา เช่น ครอบครัวไม่มีทรัพยากรมากพอในการเลี้ยงดูบุตร ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ

ประการที่สอง

การกลับคำวินิจฉัยดังกล่าวว่าอาจนำไปสู่การคว่ำกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายการเข้าถึงการคุมกำเนิด ฯลฯ เนื่องจากสิทธิการทำแท้งไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญโดยตรง หากแต่เกิดจากการตีความของศาลจากบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ 14 ซึ่งอาจมีการตีความที่แตกต่างกันไปได้เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านและคดีถูกนำเข้าสู่กระบวนศาลอีกครั้ง

ประการที่สาม

การออกกฎหมายห้ามทำแท้งมิได้นำไปสู่การทำแท้งที่น้อยลง หากแต่ผู้คนจะหันไปทำแท้งผิดกฎหมายมากขึ้น ก่อนหน้าคดี Roe v. Wada ถูกศาลตัดสินเมื่อปี 1973 การทำแท้งนั้นยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทว่าจำนวนการยุติการตั้งครรภ์นั้นสูงถึงกว่าหนึ่งล้านครรภ์ แม้กระทั่งเมื่อคดี Roe ผ่านแล้วจำนวนการทำแท้งก็มิได้ลดลง เพียงแต่ถูกทำให้ถูกกฎหมายเท่านั้น นอกจากนี้การทำแท้งอย่างผิดกฎหมายอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ตั้งครรภ์ บางรายอาจถึงแก่ชีวิต

จากคำวินิจฉัยที่ออกมาแน่นอนว่ามีประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วย เช่น Planned Parenthood ฯลฯ รวมถึงมีผู้คนออกมาประท้วงต่อต้านอย่างมากทั่วสหรัฐฯ เนื่องด้วยคำวินิจฉัยนี้ส่งผลต่อปัจเจกในสิทธิเนื้อตัวร่างกายโดยตรง หากสิทธิดังกล่าวถูกลดทอนก็ไม่ต่างอะไรจากการถูกลิดรอนเสรีภาพ เปรียบเหมือนนกที่ถูกริดปีกทีละน้อย แม้ว่าบางกลุ่มอาจมองว่าการตัดสินนี้เป็นแค่การตัดสินคดีความคดีเดียวเท่านั้น ไม่ส่งผลต่อคดีอื่น ๆ ทว่าในสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี ซึ่งเน้นการอ้างอิงคำตัดสินของผู้พิพากษาในฐานะศาลเป็นหลัก การตีความของศาลนั้นจึงแตกต่างกันไปได้ นอกจากนี้หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่าผู้ที่มีอำนาจตัดสินคดีความส่วนใหญ่นั้นเป็นเพศชาย จึงเกิดข้อถกเถียงขึ้นอีกแง่มุมหนึ่งว่า การให้เพศที่ไม่ต้องรับภาระอุ้มครรภ์มาตัดสินอนาคตสิทธิของผู้ที่สามารถตั้งท้องได้นั้นเหมาะสมแล้วหรือ หากลองมองในมุมกลับกัน หากเพศชายเป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถตั้งครรภ์ได้ Roe จะถูกนำมาพิจารณาใหม่หรือไม่ คำวินิจฉัยในครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ ถูกตั้งคำถามขึ้นถึงความเป็น ‘the land of liberty’ อีกครา เพราะดู ๆ แล้วอาวุธอาจได้รับความคุ้มครองมากกว่าเนื้อตัวร่างกายของพลเมืองเสียอีก


บรรณานุกรม

“First, Abortion: What Other Precedents Are Vulnerable? | WSJ.” YouTube. Wall Street Journal. June, 2022. https://www.youtube.com/watch?v=DBVVkW7bEYU.

“Guide to International and Foreign Law Research: Legal Systems.” University of South Carolina. June 28, 2018. https://guides.law.sc.edu/c.php?g=315476&p=2108388.

Pinto, Jennifer De; Khanna, Kabir; Backus, Fred; and Salvanto, Anthony. “CBS News Poll: Americans React to Overturning of Roe v. Wade — Most Disapprove, Call It Step Backward,” CBS. June 26, 2022. https://www.cbsnews.com/.../americans-react-to-roe-v.../.

Puckett-Pope, Lauren; and Gonzales, Erica. “Roe V. Wade, Explained: A Summary of The Landmark Abortion Case.” ELLE. June 24, 2022. https://www.elle.com/.../a39894580/roe-v-wade-summary/.

"Roe v. Wade." Oyez. Accessed June 29, 2022. https://www.oyez.org/cases/1971/70-18.

Temme, Laura. “Roe v. Wade Case Summary: What You Need to Know.” Findlaw, June 30, 2022. https://supreme.findlaw.com/.../roe-v--wade-case-summary....

“US Supreme Court Overturns Abortion Rights, Upending Roe v Wade.” Guardian, June 24, 2022. https://www.theguardian.com/.../roe-v-wade-overturned....

Related Post

Write for Rights

ฮิญาบ: สัญลักษณ์การถูกกดขี่ หรืออัตลักษณ์เครื่องแต่งกาย

เรื่อง Write to Raise

Write for Rights

Chula Inside(rs): ชุดนิสิตกับเสรีภาพที่หายไปในรั้วจุฬาฯ

เรื่อง Write to Raise

Write to Raise

Writing and Translating as Ways to Protect and Promote Democracy

ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนิสิตที่มองเห็นปัญหาในสังคมรอบตัวและต้องการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ

Contact Us

[email protected]