ประวัติศาสตร์ชีวิตและความผูกพันที่มีต่อคณะรัฐศาสตร์ของ “พี่ปื๊ด”
จากหนังสือ “ถึงเธอ...ที่รัฐ (ศาสตร์) ชีวิตสามัญชนคนเบื้องหลัง” ซึ่งได้บอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ “ป้าติ๋ว” นักการภารโรงและแม่ครัวผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะบุคคลที่อยู่และเฝ้ามองการเปลี่ยนต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมจึงได้ถือโอกาสนี้มาสัมภาษณ์อีกหนึ่งในบุคคลสำคัญประจำคณะรัฐศาสตร์แห่งนี้และเพื่อนสนิทของป้าติ๋วที่เกิดและเติบโตที่นี่
นายสมศักดิ์ ศรีตะลาลัย หรือ “พี่ปื๊ด” ที่เราชาวสิงห์ดำรู้จักกันดีในฐานะพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่ปื๊ดในวัย 60 ปี ปัจจุบันประจำการอยู่ที่ตึกอาคารเกษม อุทยานิน ซึ่งพี่ปื๊ดได้ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทางชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมก่อนที่จะเกษียณในเดือนกันยายนปีนี้ หลังจากได้ทำหน้าที่นี้มาตลอด 17 ปี
“พ่อเป็นคนปทุมฯ แม่อยู่ลำลูกกา แล้วคุณพ่อมาทำงานที่คณะรัฐศาสตร์ตั้งแต่รุ่นแรก ๆ เลย เป็นคนสวน ทำประปา ทาสี หลายอย่าง แม่ขายของอยู่ที่โรงอาหารเก่าด้านหลัง แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ที่นี่หมด พี่น้องทุกคนก็เกิดที่นี่ 5 คน แต่ก่อนมันจะมีบ้านพักคนงาน อยู่ตรงต้นไทรหลังตึกกิจฯ โรงเก็บขยะเก่า แต่ก่อนมันมีโรงอาหารเก่าอยู่ แล้วแถบโรงอาหารนั่นก็จะเป็นบ้านพักคนงาน แถวนั้นแหละ ตั้งแต่ต้นไทรยันไปถึงชิดรั้วเลย”
“แต่ก่อนก็เกิดที่นี่ อยู่ที่นี่มาตลอดจนอายุ 19 ปี พอคุณพ่อเสียเราก็ต้องย้ายออก เลยไปซื้อที่ข้างนอกไว้แล้วย้ายออกไปอยู่บ้านข้างนอก ย้ายไปเมื่อตอนปี 22 เราไม่ได้เรียนต่อมหาลัย จบแล้วเราก็ออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพให้ครอบครัว ช่วยเหลือครอบครัว ก็เยอะแยะหลายอย่าง ประสบการณ์มันโลดโผนเกินทะยานตอนอยู่ข้างนอก แต่ก็ต้องปรับตัวอยู่ให้ได้ จนมีโอกาสได้มาเข้าทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์นี้เมื่อตอนปี 48 พอดีว่าตอนนั้นศูนย์รปภ. เขาเปิดรับ เขาโละบริษัทเก่า แต่ก่อนเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ทำงานให้จุฬาฯ เขาก็โละ กลายเป็นว่าเขาจะเปิดรับรปภ.เอง เป็นของมหาลัยเอง จังหวะพอดี ตอนนั้นทำงานบริษัทอยู่ บริษัทมันก็ไม่ค่อยดี ญาติที่ทำงานที่คณะวิศวะก็แนะนำมาให้สมัคร มาสมัครแล้วก็ได้เลย”
“ดีใจมาก ถือว่าโชคดีที่ได้กลับมาบ้านเกิดตัวเอง ได้มาทำงานให้คณะรัฐศาสตร์ ยังภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ที่จะเกษียณแล้ว”
“อันนี้แน่นอนเลย เพราะว่าที่คณะนี้เป็นบ้านเกิดหลังแรกของเรา (ยิ้ม) ก้าวแรกเราเดินก็เดินอยู่ในคณะรัฐศาสตร์แห่งนี้แหละ ตอนเด็ก ๆ เราก็วิ่งเล่นกันอยู่ในคณะนี่แหละ ไปเล่นกับนิสิตบ้าง บางทีเขาซ้อมกีฬา เตะบอล เราก็ไปยืนดูเขาเตะกับเขาบ้าง หรือบางทีตอนเขาฟันดาบเราก็จะไปยืนดู พอเขาวางดาบไว้เราก็หยิบจับเอาดาบมาลองเล่นดูบ้างตามประสาเด็กน่ะนะ (หัวเราะ) อย่างถ้าซ้อมดนตรีตีกลอง เราก็จะไปด้วย ไปคลุกคลีอยู่กับนิสิตตลอด แล้วอีกอย่างคือคณะเลี้ยงดูครอบครัวเรามาตลอดเพราะพ่อเราทำงานที่นี่ คณะให้อะไรเราหลายอย่าง ให้ประโยชน์อนันต์มากมาย ทำให้สามารถส่งเสียให้ลูกเรียน ให้บ้านและที่อยู่ และก็ให้อนาคตที่ดีกับทุกคนในครอบครัว คณะรัฐศาสตร์นี้ถือว่ามีคุณมาก”
“อาจารย์นี่ดีมากเลย นิสิตก็ดี ส่วนใหญ่ก็นิสัยดีมาก (หัวเราะ) แต่กับอาจารย์นี่แทบทุกคนเลยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะเราก็ทำงานดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคนที่มา แล้วเราก็ได้รับความเมตตาเยอะเลย นิสิตบางคนจบไปเป็นนายอำเภอ เขากลับมาเขาก็ยังรู้จักยังจำเราได้ มีทักทายอะไรกันตลอด นิสิตที่ยังเรียนอยู่ทุกวันนี้เวลาเจอกันก็ยกมือไหว้ทักทายกันอยู่ตลอด... หรืออย่างตอนนั้นมีน้องนิสิตปีสามปวดท้อง แล้วเขามาขอยาธาตุกิน เราก็บอกว่า ‘เอาไหมนี่ลุงมี’ เราก็เอายาให้เขากินไปขวดนึง น้องเขากินแล้วก็บอกว่าดีขึ้น เราก็ดีใจ คือมันก็เป็นความภูมิใจของเราที่ได้เป็นส่วนน้อย ๆ ส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเขาและทุกคนที่นี่ (ยิ้ม)”
“นอกจุฬาฯ จะไม่ค่อยมีหรอก เราจะอยู่วงภายในคณะซะมากกว่า จะมีความผูกพันระหว่างเจ้าหน้าที่ คนงาน และลูกหลานคนงาน เราจะผูกพันใกล้ชิดกันภายในคณะมากกว่า แต่ก็ได้ไปตลาดสามย่านเก่า แต่ก่อนเป็นตึกแถวอยู่ริมถนนฝั่งนู้น ใกล้ ๆ มิตรทาวน์ เป็นตลาดเก่า มีตึกแถวอยู่ด้านหน้า ตลาดอยู่ด้านใน ไปทุกวัน เพราะต้องไปซื้อกับข้าวจากที่นั่น ซื้อกับข้าว ซื้อของกิน ก็จะมีซอย 16 จามจุรีแสควร์ แต่ก่อนตรงนั้นมีร้านก๋วยเตี๋ยว มีร้านขนมขาย เย็น ๆ ก็ครึกครื้น ของกินเยอะ ตอนสมัยก่อน”
“แน่นอนว่าเสียดาย อยู่มาตั้งแต่เราเกิดอะตลาดนี้ ตั้งแต่เราจำความได้ว่าไปซื้อกับข้าวตลอด ก็เสียดาย แต่อย่างว่า มันก็คงเป็นไปตามสภาพของสังคมแหละ”
“ป้าติ๋วก็เป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่แก่กว่า แต่เราก็เกิดและเล่นด้วยกันมาที่นี่ ก็ได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปภายในคณะรัฐศาสตร์นี้มาตลอด ก็มาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนนู้นยันปัจจุบันว่าความเปลี่ยนแปลงมันมีอะไรบ้าง มันเปลี่ยนไปเยอะขนาดไหน”
“พ่อปื๊ดเขาเป็นคนสวน พ่อป้าเองเป็นยาม เราก็อยู่กันมาด้วยกันตั้งแต่เล็กเหมือนพี่น้อง เราก็รักกันเหมือนพี่เหมือนน้องเลยเพราะครอบครัวเราสองคนก็อยู่ด้วยกันมานาน เราก็เล่นด้วยกันทำนู่นนี่ด้วยกัน คือป้าเป็นคนชอบเล่นชอบดูกีฬานะ เวลาวิศวะเขาแข่งกับรัฐศาสตร์ก็จะตีกันทุกครั้ง ป้ากับปื๊ดก็จะชอบไปมุงดูเขาตีกัน (หัวเราะ)” (ป้าติ๋วกล่าวถึงพี่ปื๊ด)
“ในสมัยก่อนที่ห้างสรรพสินค้ายังไม่มี นิสิตเรียนอยู่ที่คณะพอเลิกเรียนก็ไม่ได้ไปไหนกันหรอกเพราะไม่มีที่ไป นิสิตก็จะอยู่คณะกัน นั่งเป็นกลุ่มเป็นโต๊ะ ๆ อยู่อ่านหนังสือกัน แล้วช่วงตอนเย็น ๆ ก็จะมีการเล่นกีฬากัน ซ้อมกีฬากัน อย่างวอลเลย์บอล ฟันดาบ ซ้อมวงดุริยางค์ พวกนิสิตเขาจะอยู่อย่างนี้ยันทุ่มสองทุ่มกว่าจะกลับบ้านกัน มันจะไม่ค่อยเหมือนสมัยนี้ สมัยนี้พอเรียนเสร็จก็จะหายแวบไป แล้วจะเจออีกทีก็ตอนเวลาเข้าเรียน ไม่เหมือนกิจกรรมที่ทำกันในสมัยก่อน”
“ความผูกพันมันไม่ได้หายไปไหนหรอก เพราะมันฝังอยู่ในใจอยู่แล้ว เพราะเราเกิดที่นี่และอยู่ที่นี่มานาน ถึงเราจะไปอยู่ที่อื่น เราก็ยังวนเวียนกลับมาที่นี่บ่อย ๆ มันลืมไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นบ้านเกิดหลังแรกของเรา ไม่ว่าคณะจะเปลี่ยนไปยังไงก็ยังรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านเหมือนเดิม”
“ทุกงานมันก็มีปัญหาหมดนะ ทุก ๆ อย่างปัญหาก็มากน้อยต่างกันไป แต่งานที่ทำ ๆ อยู่ก็ไม่มากหรอก เพราะตอนเราทำงานเราก็ตั้งใจทำงาน ปัญหาที่มีมันก็ธรรมดา มีบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ น้อยมาก เพราะอยู่ตรงนี้เวลาเรามีปัญหาอะไรก็มีคนช่วยตลอด ช่วยกันดูแลสอดส่อง วัน ๆ นึงสายตาเราก็จะอยู่แต่กับงานตลอดไม่เคยพักเลย แต่ความเสี่ยงอะไรแนวนี้ก็ไม่ค่อยมี เพราะเราก็ต้องระวังตัวเอง ระวังตัวคนอื่นและตัวนิสิตด้วย คนไหนแปลกหน้าแปลกปลอมเข้ามาก็จะคอยดูระวังอย่างเข้มงวดทุกอย่าง แต่มันก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์อะไรเท่าไหร่”
“ช่วงโควิดมันก็ได้รับทุกคนนะ แต่ ๆ (เน้นเสียง) แต่เราก็ต้องทำงานน่ะนะ ถึงคนอื่นจะหยุดหรือ work from home เราก็ยังจะต้องมาทำงานอยู่ทุกวันเพราะมันคือหน้าที่ ช่วงระบาดหนัก ๆ ก็อยู่ดูคณะตลอด เราก็เสี่ยงตลอดเหมือนกันว่าจะติดไหม แต่เราก็คอยระวังตัวเอง โชดดีที่เรายังไม่ติด”
“ก็มีวัคซีนให้นะ ได้ฉีด 3 เข็ม คือเราก็ได้เงินเดือนปกติแหละ แต่ก็ไม่ได้มีเพิ่มค่าเสี่ยงภัยหรืออะไรให้”
“แน่นอน ๆ เพราะว่าเราผูกพันมาตั้งแต่เล็ก แล้วเราเองก็มาทำงานประจำอยู่ที่นี่ด้วย มันก็เลยเป็นธรรมดาที่จะรู้สึกอยู่บ้าง”
“ก็คิดไว้ว่าจะค้าขาย แต่ก็ต้องรอให้โควิดมันนิ่ง ๆ ก่อน เพราะว่าเราก็ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก เอาพอประมาณให้เราอยู่ได้ก็พอ (ยิ้ม) แต่ก็มีคนมาถามอยู่เหมือนกันนะว่าอยากจะทำงานที่นี่ต่อไหม ก็มีคนมาทาบทามนะ อาจจะรอดูก่อนแต่ก็คิดว่าคงไม่แล้วล่ะ”
“ก็ขอให้ช่วยกัน ไม่ว่าจะทั้งบุคลากร ทั้งอาจารย์ ผู้บริหารและนิสิต ให้ช่วยกันประคับประคอง ดูแลคณะ ให้เดินหน้าต่อไป ทั้งการเรียน การทำงาน และการบริหารทุกอย่าง ก็ขอให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปอีก สร้างนิสิตที่มีคุณภาพต่อไป (ยิ้มกว้าง)”
Write to Raise
Writing and Translating as Ways to Protect and Promote Democracy
ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนิสิตที่มองเห็นปัญหาในสังคมรอบตัวและต้องการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ