เนติวิทย์ จากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย กับบทบาทใหม่ในฐานะพระสงฆ์

เมื่อพูดถึง เนติวิทย์ หลายคนมักจะมีภาพในหัวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “ผู้มาก่อนกาล” หรือ “นิสิตเลวในระบบการศึกษาแสนดี” แต่เขาก็พร้อมที่จะทำให้สาธารณชนประหลาดใจกับภาพลักษณ์เคลื่อนไหวก้าวหน้าไม่หยุดอยู่กับที่ รวมไปถึงบทบาทใหม่ในเส้นทางชีวิตในฐานะ “พระสงฆ์” เมื่อข่าวลือพัดพาอย่างหนาหูว่า “ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” กำลังจะออกบวช ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมจึงไม่รีรอเชิญเจ้าตัวมาแจ้งแถลงไขถึงที่มาที่ไปในการลาบวชครั้งนี้ พร้อมแลกเปลี่ยนแง่มุมที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน

ในห้องประชุมของตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ สถานที่ที่เจ้าตัวและกลุ่มนิสิตช่วยกันผลักดันให้มีพื้นที่สาธารณะที่นิสิตในคณะสามารถใช้ร่วมกันได้ เนติวิทย์ หรือ เป็นที่รู้จักกันดีในนาม พี่แฟรงค์ รุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์ บุคคลที่อยู่คู่คณะมานับ 5 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ พร้อมสั่งลาบวช

01 ตัวตนของคนยืนหยัด

คำถาม: หลายคนจะมีภาพว่าเนติวิทย์เป็นนักเรียนเลวในระบบการศึกษาที่แสนดี บางคนก็วาดภาพว่าเป็นนักเคลื่อนไหวที่กล้าหาญต่อสู้กับระบบอยุติธรรม แล้วเนติวิทย์มองตัวเองเป็นคนยังไง อยากให้นิยามตัวเองให้ฟังได้ไหมคะ

เราเป็นคนที่อยากจะศึกษาหาความรู้ไปเรื่อย ๆ คิดว่าตัวเองไม่ได้มีอัตลักษณ์ที่ตายตัว คือมันเรียนรู้ มันทำ ๆ ไปก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ สำหรับตัวเราเอง เราไม่ได้นิยามตัวเองแบบหยุดนิ่งว่า ต้องเป็นผู้กล้าหาญ หรือ นิยามว่าตัวเองเป็นคนเลว ตามที่เขาบอกกัน เราไม่จำเป็นต้องเชื่อแบบนั้น เราค้นหาตัวเองผ่านการลงมือทำงาน การที่เราจะรู้ว่าเราเป็นคนยังไงมันมาจากการที่คนอื่นเขามองมา แต่ว่าคนอื่นก็อาจมองโดยใช้บรรทัดฐานทางสังคมบางอย่างก็ได้ เขาอาจจะมองเราโดยที่ไม่ได้สะท้อนตัวเราจริง ๆ ก็ได้ และเราเองก็อาจจะหลงกับสิ่งที่เขามองเรา แล้วทำให้เราไขว้เขวก็ได้ เรื่องการเข้าใจตัวเองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก มันต้องมาจากการทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ไปยึดติดกับคำที่เขานิยาม

คำถาม: ตลอดเส้นทางที่ผ่านมามันก็ช่วยให้มองเห็นตัวเองด้วยใช่ไหมคะ

ใช่ ก็เราทำงานเราเลยรู้ว่าทำไมงานนี้ถึงล้มเหลว ทำไมทำแล้วคนไม่อยากร่วมงานกับเรา ทำไมงานนี้ทำแล้วสำเร็จ ทำไมมันปังจังเลย เราก็จะได้เห็นว่าเป็นเพราะอะไร การเป็นนักเคลื่อนไหวมันดีนะ จริง ๆ ก็คล้าย ๆ การทำธุรกิจเหมือนกัน คือคุณก็ต้องรู้ว่าทำไมคุณทำสำเร็จได้ คุณขายไอเดียทำไมอันนี้คนซื้อ อันนี้คนไม่ซื้อ หรือคุณผิดตรงไหน หรือเพราะว่าการประพฤติกับการพูดของคุณมันไม่ไปด้วยกันหรือเปล่า  มันก็ทำให้เราคิด
ดังนั้นการเป็นนักเคลื่อนไหวคือการไม่หยุดนิ่ง คือการได้เรียนรู้อะไรไปเรื่อย ๆ
แล้วก็เหมือนที่เห็น เราต่อสู้อะไรมา เราก็รู้สึกพอใจในบางเรื่อง เช่น ลองมองย้อนตัวเองเมื่อก่อนเราเป็นนิสิตในคณะ แม่งไม่มีใครสนใจเสียงของเราด้วยซ้ำ แล้วตอนนี้เราได้เป็นทั้งนายกอบจ. ได้เป็นทั้งนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ แล้วก็มีคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันมาทำงานต่อ มันเร็วนะ หมายถึง มันสำเร็จได้อย่างรวดเร็วในระดับหนึ่ง

คำถาม: ตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมา เช่น เรื่องจดหมายขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ที่เคยพยายามผลักดัน และ วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (Intro Soc Anth) หากลองมองย้อนกลับไป สิ่งเหล่านั้นก็เป็นความสำเร็จ ณ จุด ๆ หนึ่ง รู้สึกยังไงกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำมา คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง แล้วคิดว่าแนวทางการต่อสู้จะมีรุ่นน้องเอาไปปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง

เอาจริง ๆ มันน่าจะสำเร็จได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ ปัญหาในคณะเรามันมีเยอะกว่าไอ้วิชา Intro Soc Anth (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) ซะอีก แต่ตอนแรกหลายคนก็ไม่พอใจผมมากเหมือนกันนะที่ผมไปยกเลิกข้อสอบปรนัย เพราะหลายคนบอกมันให้เกรดง่าย คือก่อนหน้านี้มันให้เกรดง่ายมาก ถ้าคุณจำโพยได้ คุณก็อาจจะได้เอ หรือ บีบวกง่าย ๆ พอเปลี่ยนวิธี ก็มีหลายคนไม่พอใจ เราก็รู้สึกผิดหวังที่เขามาบอกว่าทำไมเราทำให้รุ่นน้องเรียนยากขึ้น ตอนแรกเราก็กลัวเหมือนกันว่าเดี๋ยวต่อไปพวกรุ่นน้องที่เรียนวิชานี้จะมาด่าเราหรือเปล่าวะ  แต่ปรากฏว่าผลตอบรับค่อนข้างดี และทำให้พวกเขาเข้าใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น ตระหนักรู้ทางการเมืองมากขึ้น เรารู้สึกว่าทำได้ดีในเรื่องนี้ แต่เรื่องวิชา Intro Soc Anth เราใช้เวลาตั้งหลายปี แล้วเราที่ทำส่วนใหญ่ เราก็ไม่กล้าเล่นใหญ่ด้วยเมื่อก่อน หลายคนมันได้ประโยชน์จากระบบแบบนี้ ก็แค่ไปซื้อโพยมานั่งจำ แก้เรื่องนี้แค่เรื่องเดียวใช้เวลาสามปี
คราวนี้เราก็ทำได้บางเรื่องแหละ ในสถานการณ์ตอนนั้น ถ้าให้พูดตามตรง หลาย ๆ เรื่องเราก็ไม่กล้าทำเหมือนกัน แต่เราว่าเด็กยุคนี้ถ้าอยากจะลอง มองดูก็เห็นนะ เราก็ใช้เวลาต่อสู้มาเหมือนกัน แล้วมันก็สำเร็จ ความสำเร็จก็ก่อตัวเป็นความสุข ดังนั้นถ้าคุณอยากจะเคลื่อนไหว คุณอย่าไปคิดว่าการเคลื่อนไหวคุณจะสำเร็จได้ภายในไม่กี่วัน บางคนท้อเร็วเกิน รู้สึกทำแล้วมันไม่มีประโยชน์ ของแบบนี้มันต้องใช้เวลา แต่เมื่อคุณทำสำเร็จคุณก็จะเห็นความสุข แล้วก็เห็นว่าคนอื่นเค้าได้ประโยชน์  ก็ปรับใช้ได้ในแง่ความอดทน ต้องมีความอดทน และก็ต้องพยายาม ต้องสื่อสารกับคน เราก็พูดตลอด เราไม่พอใจ Intro Soc Anth ตั้งแต่ปีหนึ่ง เราด่าตั้งแต่เกรดยังไม่ออก ด่าวิชาตอนนั้นเลย ด่าไปอาจารย์ก็ไม่ทำอะไรเลย เราโทรหาอาจารย์ด้วยนะ ไม่ใช่แค่บ่นใน Facebook อย่างเดียว เราขอเบอร์อาจารย์มาจากใครจำไม่ได้แล้ว แล้วเราก็โทรไปหาเลย บอกอาจารย์ว่า อาจารย์ควรไปปรับหนังสืออย่างนั้นอย่างนี้ อาจารย์ก็ไม่พอใจเราเหมือนกัน มาบอกว่า เขาไม่ได้ผิด เขาไม่ได้ผิดเรื่องนี้ ถ้าเธออยากจะต่อสู้เรื่องนี้ เธอต้องไปคุยกับสำนักพิมพ์จุฬาฯ ฉันไม่ได้เกี่ยวข้อง อาจารย์ก็ปัดความรับผิดชอบ สำนักพิมพ์จุฬาฯ ก็ปัดมาให้อาจารย์ ปีแรกเราต่อสู้แบบนี้ และเราก็สู้มาทุกปีจนรุ่นหลัง ๆ เห็นด้วยกับตรงนี้ เลยช่วยกันผลักดัน ดังนั้นการต่อสู้ก็ต้องสะสมเวลาไปเรื่อย ๆ

ในฐานะคนรุ่นหลังที่ได้มาเรียนวิชา Intro Soc Anth ขอบคุณมากที่ช่วยผลักดันทำให้วิชานี้ไม่ดูถูกคนเรียน

เรื่องนี้แหละคือเรื่องที่เรากังวลที่สุด คือสิ่งที่เราเรียนมันดูถูกตัวเราเองทั้งนั้น ถ้าหลายคนยอม มันก็ลดทอนเรา เช่น วิชาท่องจำ มันลดทอนเรามากนะ ให้เราไปจำ อย่างตอนนั้นให้จำชื่อของอาจารย์ในคณะ คนไหนที่ไม่ได้สอนในวิชานี้ คนไหนอยู่ในภาคสังคม สมมติให้ท่องจำหมดเลย มันไม่ถูก มันคือการลดทอนมนุษย์ และถ้าเรายังทำแบบนี้เท่ากับเราก็จะผลิตซ้ำไอ้ความคิดแบบนี้กับสังคมต่อไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราอยู่ต่อ เพราะถ้าเราเรียนจบไปตอนนั้น ก็จะไม่ค่อยมีคนเข้าใจประเด็นพวกนี้มากเท่าไหร่ เราไม่ได้ทำคนเดียวนะเรื่องนี้ มันสำเร็จเพราะว่ามีการล่ารายชื่อแล้วอาจารย์ก็ยอมรับ อาจารย์เขาก็คงถูกเราและคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์มาหลายปีพอสมควร เขาจึงไม่เอาแล้วดีกว่าเลยเลิกสอนวิชานี้ไป แต่ยังไงเราก็ต้องให้เครดิตอาจารย์ท่านด้วยที่สุดท้ายท่านก็รับฟังนิสิต แม้ว่าต้องใช้เวลา นิสิตเองก็อย่าไปนิ่งยอมแพ้ว่าทำไมอาจารย์คนนี้ดื้อด้านจัง บางทีอาจต้องให้เวลาท่านบ้างไปพร้อม ๆ กับกดดันท่าน

คำถาม: การเรียกร้องอะไรหลาย ๆ อย่างมันต้องใช้เวลา รวมถึงความอดทนอย่างมาก แต่ก็จะมีบางเรื่องที่แม้จะใช้เวลาและความอดทนแล้วมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่น เรื่องของผู้ค้ารายย่อยที่จามจุรีสแควร์ที่โดนปิดและศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ถูกรื้อ

เวลาประสบกับความล้มเหลว รู้สึกท้อบ้างไหมคะ และมีวิธีจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร

เราก็รู้สึกท้อนะ บางครั้งที่เราทำไม่สำเร็จ เราก็เป็นทุกข์ บางทีเรานอนหลับเราก็ทุกข์กับเขา คิดถึงเขานะ แม้เราจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องพวกนี้ แต่เราก็ยอมไม่ได้
เราอาจจะแพ้ใช่ไหม ผู้ค้าอาจแพ้คดีจุฬา แต่เราก็ลองคิด เรานับถือความกล้าหาญของพวกเขามาก และเราก็รู้สึกว่าไอ้ความพ่ายแพ้มันไม่สามารถเทียบได้เลยกับความกล้าหาญ ความเข้มแข็งภายในได้หรอก เรารู้สึกอย่างนั้น ดังนั้นเราก็ต้องเข้มแข็งต่อไป
หรือดูอย่างพี่นกที่ศาลเจ้าแม่ โดนฟ้องร้อยยี่สิบล้าน เราก็รู้สึกกลัวว่าเขาจะเจออะไรต่อไป แต่เห็นความเข้มแข็งของเขาก็ทำให้เรายิ่งยอมไม่ได้เลย เรายิ่งต้องช่วยเขา และคนอื่นต่อ ๆ ไปด้วย เพราะว่าเขาสู้ไม่ถอยเลย แล้วเราล่ะ เราสบายกว่าเขาอีก เราแค่มีหน้าที่ช่วยให้เสียงเขาดังขึ้น ดังนั้นเรามีอภิสิทธิ์มากมายเลยแหละ ตรงนี้เราจะนิ่งเฉยไม่ได้
พูดถึงด้านจัดการความรู้สึกตัวเองก็ประมาณว่าเอาความรู้สึกเขามาใส่ใจเรา พยายามเข้าใจเขา
เราพยายามหาด้านดีในสถานการณ์ลบ บางทีมันมีความงดงาม มันมีสปิริตของการไม่จำยอมต่อความพ่ายแพ้ซ่อนอยู่ แม้จะเจ็บปวดก็ตาม การยอมแพ้เท่ากับการสิ้นคิด การที่ผู้ค้ายอมจุฬาฯ ทุกอย่าง ให้เขากดขี่ข่มเหง มันคือการสิ้นคิด มันคือการลดทอนมนุษย์ ลดทอนตัวเอง เขาจึงไม่ยอมแม้ว่าเขาจะเจ็บปวด สำหรับผมนั่นคือความงดงาม และการที่เราเจ็บปวดร่วมกับเขาได้ แสดงว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่ เรายังรู้สึกอยู่ว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำกับผู้ค้ารายย่อยนั้นไม่ถูกต้อง

คำถาม: ความเจ็บปวดที่เรารู้สึกร่วมกันมันบ่งบอกได้ว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่ใช่ไหมคะ

ใช่ เราเป็นมนุษย์และเราก็ยังสู้ต่อไปได้ด้วย ถ้าวันไหนที่เราไม่เจ็บปวดเลย ไม่มีอุปสรรคใด ๆ เลย เขาว่านั่นคือเราเหมือนอยู่ทุ่งลาเวนเดอร์ คิดแบบไอ้นี่ดีไปหมด คือถ้าคุณอยู่สบายดี คุณก็ไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดอะไรแล้ว
แต่เรารู้สึกเจ็บปวดแสดงว่าเรายังมีชะตากรรมกับเพื่อนร่วมโลกนี้อยู่ ยังทุกข์ยากอยู่

คำถาม: อาจบอกได้หรือไม่ว่าความเจ็บปวดเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งในการก้าวไปข้างหน้า

ใช่ ก้าวต่อไป การต่อสู้มันก็มีความเสี่ยงอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันเสี่ยงในเรื่องที่ดี เช่น เราเสี่ยงกับการลงทุน เราก็ไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรบางอย่างไม่ว่าจะเสียหายหรือได้กำไรก็เป็นประโยชน์กับตัวเรา เช่นเดียวกันกับการเสี่ยงอันนี้ เราเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือคนอื่น เราว่าเผลอ ๆ มันมีประโยชน์กว่าการเสี่ยงหลาย ๆ ประเภทเสียอีก เพราะมันคือการเสี่ยงเพื่อประโยชน์คนอื่น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

02 ขีดเขียนเปลี่ยนสังคม


คำถาม: ถ้าพูดถึงการต่อสู้ในระยะยาว การปลูกฝังความคิดความรู้ผ่านถ้อยคำ ผ่านตัวหนังสือ ก็เป็นอาวุธที่สำคัญใช่ไหมคะ ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของสำนักพิมพ์นิสิตสามย่านให้ฟังได้ไหมคะ

เราคิดว่าเรื่องความคิดมันมีความสำคัญ มันเป็นสิ่งที่แสดงถึงหมุดหมายบางอย่างของความก้าวหน้าทางสังคม แต่ว่าวัยนักศึกษา เรามักจะยังมีความคิดที่กระจัดกระจายอยู่ ยังไม่มีความเป็นรูปธรรม ซึ่งความเป็นรูปธรรมบางอย่าง มันมาจากการคิดการเขียน บางทีคิดอย่างเดียว มันไม่เข้าใจ ต้องเขียนออกมาให้ได้ ซึ่งเราว่ามันเป็นทักษะที่ค่อนข้างขาดหาย เราเลยมองว่าถ้ามีสำนักพิมพ์ขึ้นมาได้ก็คงดี อีกอย่างการขีดเขียนเป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง อย่าไปมองแค่ในเชิงทางปัญญา
สำนักพิมพ์นิสิตสามย่านอาจจะไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์ที่สมบูรณ์แบบ อาจจะไม่ได้ผลิตงานชั้นเลิศ เหมือนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยหรือที่สำนักพิมพ์อื่น ๆ ทำกัน เพราะเรายังเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ แต่ว่ามันคือการฝึกกระบวนการคิด มันเป็นการเคลื่อนไหวเหมือนกัน เพราะคุณต้องอยู่กับตัวหนังสือ ตัวบทความ อย่างตอนคุณทำหนังสือป้าติ๋ว คุณก็ต้องสัมภาษณ์ป้าติ๋ว คุณก็ต้องไปเรียนรู้บุคคล คุณต้องเข้าใจเขา คุณต้องเข้าใจให้ได้ว่าเค้าพูดอะไรกันแน่ แล้วคุณก็ต้องถ่ายทอดออกมา นอกจากนี้สิ่งที่คุณทำอาจจะช่วยเขาได้ด้วย เช่น ให้เขามีเงินไถ่หนี้ หรือว่าช่วยให้เขามีสิทธิ์มีเสียงในประวัติศาสตร์ต่อไป ไม่แน่ว่าหนังสือป้าติ๋วอาจจะทำให้เด็กคณะอื่นหรือที่อื่น ๆ เกิดแรงบันดาลใจ จากการทำหนังสือในลักษณะเดียวกัน จาก รปภ. แม่บ้าน หรือคนที่เขารู้จัก แทนที่จะมีแต่หนังสือประวัติศาสตร์ของคนใหญ่คนโต
สิ่งที่สำนักพิมพ์ทำมันคือการเคลื่อนไหว  เด็กบางคนไม่ได้เหมาะที่จะไปปราศรัยบนเวที บางคนไม่ได้อยากไปตะโกน การเปลี่ยนสังคมมันก็มีหลายวิธี เช่น การเขียน บางทีถ้าเขียนดี ๆ ก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนเอาไปอ่าน แล้วก็ออกไปเคลื่อนไหวด้วยก็ได้ เขาอาจจะเขียนต่อไปก็ได้
สำหรับสำนักพิมพ์นี้เราก็คิดอย่างนี้แหละ เราอยากให้มันเป็นเหมือนเราที่มีหลักภาษิตในใจตั้งไว้ตั้งแต่ตอนนั้น  เราเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยผ่านตัวอักษร ซึ่งมันมีคนทำงานนี้น้อยนะ มันยังไม่เยอะ แล้วยังขาดหนังสือหรืองานแปลดี ๆ เกี่ยวกับชีวิตสามัญชนอีกมาก
สำนักพิมพ์นิสิตสามย่านก็มาจากความคิดเรื่องงานแปลด้วย คือเราก็ไม่ได้ทำงานแปลดีเลิศหรอกแต่มันน่าตกใจว่าสังคมไทยเราทำไมเราไม่มีงานแปลคลาสสิคมากเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ เรามีคนรู้ภาษาอังกฤษเยอะ คิดง่าย ๆ เด็กคณะเราอะ ไปแลกเปลี่ยน AFS ก็เยอะ อย่างน้อยก็มีจำนวนมากกว่าครึ่งของภาค IR (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) แล้วไหนจะเด็กคณะอักษรที่เรียนเอกภาษาต่าง ๆ นานาก็มีเยอะแยะ แต่ทำไมเราไม่มีงานแปลดี ๆ บ้าง มันหายไปไหนหมด สมมติถ้าคุณเรียน คุณก็ต้องอ่าน บทความ วารสารภาษาอังกฤษ อย่างเวลาที่เรียนวิชาของอาจารย์กัลยา เขาให้เราอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเลย แต่เราก็ลืมไปคิดเลยว่ามันก็มีคนที่อ่านบทความ วารสารภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นจำนวนมาก หากคนไทยจำนวนมากไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษ แล้วทำไมเราไม่แปล  ทำไมมหาลัยไม่ส่งเสริม ทำไมเด็กไม่ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมประเทศ เพื่อนร่วมสังคม เพื่อที่เขาจะได้เอาไปต่อยอดแนวคิดทฤษฎีในโลกภาษาไทยได้เอง เรายังไม่มีคนทำตรงนี้ ทั้งที่มันมีหลายงานเขียนภาษาต่างประเทศอีกมากที่ไม่มีแปลภาษาไทย บางเล่มนี่ห้าหกปีแล้วนะที่เราต้องไปแปลกับเพื่อนแล้วเอามาใช้ประกอบการเรียนในคณะด้วยสำหรับบางวิชา เพื่อให้นิสิตเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อาจารย์ก็สอนได้สะดวกขึ้น จริง ๆ ยังมีที่ต้องแปลอีกเยอะเลย เราเพียงทำให้เป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง รวมถึงทำให้ผู้ใหญ่เห็นด้วยว่า แม้เด็ก ๆ พวกนี้ จะไม่ได้มีทุนทรัพย์อะไรมากมายนัก แต่ก็สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาได้สี่สิบห้าสิบเล่ม ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่คุณมีเงิน คุณมีวิสัยทัศน์ ทำไมคุณจะผลิตงานแปลออกมาดี ๆ ออกมาให้คนไทยได้อ่านไม่ได้
อีกแรงบันดาลใจของเราก็คือ เราเคยเดินทางไปต่างประเทศ เราเดินทางไปไต้หวัน เราไปเห็นร้านหนังสือที่ไต้หวัน เราอึ้งเลย อย่างหนังสือภาษาอังกฤษที่เราเห็นที่เมืองไทย เช่น ในร้านคิโนะเนี่ย มันแปลเป็นภาษาจีนหมดแล้ว แล้วทำไมเขาทำได้ คนไต้หวันเขาได้อ่านหนังสือดี ๆ ในเวอร์ชั่นภาษาเค้าแล้ว บางทีเราก็อยากอ่านเล่มนั้นเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ มันน่าจะยาก เพราะมีภาษาจีนเต็มไปหมดเลย ที่ต้องการจะสื่อ คือ เค้าให้ความสำคัญกับคนในชาติ แต่เราประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก สำนักพิมพ์จึงอยากทำตรงนี้ ซึ่งก็ทำมาได้พอสมควร

คำถาม: แล้วผลการประกอบการของสำนักพิมพ์เป็นยังไง น่าพึงพอใจไหม

ปานกลาง ก็ไม่ได้ดีมาก เพราะเราไม่ได้เน้นว่าทำแล้วต้องรวย เราไม่ได้เน้นความสมบูรณ์แบบ  ถ้าให้พูดจริง ๆ งานแต่ละเล่มของสำนักพิมพ์เรานั้นขึ้นกับความสามารถส่วนบุคคล แล้วก็ขึ้นอยู่กับเวลาด้วย บางทีเราไม่มีเวลามากพอในการทำ เนื่องจากว่ามันเป็นการยากที่นิสิตจะไปโฟกัสกับงานจริง ๆ จัง ๆ มันน่าเบื่อ บางทีเราก็เบื่อ สมมติว่าผมให้คุณไปทำหนังสือเล่มหนึ่งใช้เวลาหนึ่งปี ถ้าต้องทำงานคนเดียวในเวลากระชั้นชิด คุณคงเบื่อแย่เลย แถมงานก็อาจจะออกมาไม่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ มันอาจจะเป็นอย่างนั้นได้ สำนักพิมพ์ก็เลยกลาง ๆ สำหรับเรานะ แต่พอมันไม่ได้ดีมาก บางทียอดขายขายของบางเล่มก็ไม่ดี บางทีมีแปลผิดแปลถูกด้วย แต่ถ้ามองอีกมุมนึง เพราะสำนักพิมพ์นี้มันเป็นช่องทางการเรียนรู้ไง เป็นพื้นที่ลองผิดลองถูก งานแปลชิ้นแรกมักจะไม่ค่อยดีเสมอซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เท่าที่เราสังเกต แต่มันจะค่อย ๆ พัฒนา ดังนั้นถ้าคุณต้องการความสมบูรณ์แบบ สำนักพิมพ์นี้มันอาจจะยาก คุณต้องเสี่ยง คุณต้องลองผิดลองถูก คนที่อ่านก็อาจจะต้องให้กำลังใจนิสิตหน่อย แต่เรามีการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นแน่นอน

คำถาม: อะไรคือจุดเริ่มต้นของคนที่ชอบ ขีดเขียน คิดตั้งคำถามแบบเนติวิทย์

จุดเริ่มต้นของเราก็คือ เริ่มต้นมาจากการเขียน เราเขียนหนังสือในห้องเรียน เมื่อก่อนเราเขียนด้วยคอมยังไม่เป็นเลย เราก็เขียนใส่กระดาษ เขียนด้วยมือเลยนะ แล้วก็ไปถ่ายเอกสารเอา คือถ้าเขียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ เราจัดหน้าไม่เป็น เราไม่รู้จะทำยังไงให้มันสวย เราก็เลยเขียนด้วยมือแล้วก็ไปปรินต์ขายเพื่อนในห้องเอา ชุดละห้าบาทหกบาท แต่ว่ามันก็ไม่ได้มาจากความอยากเขียนโดยทันที มันมาจากอ่านก่อน อ่านหนังสือแล้วมันดันไปขัดกับสิ่งที่ครูสอน ละพอเราเอาไปบอกครู ครูอาจจะสอนผิดรึเปล่า ครูก็ไม่รับฟัง เขาก็บอกเขาถูกแน่นอน ซึ่งมันก็ทำให้เราไม่รู้จะทำยังไงดี ตอนนั้นมันคือเรื่องคณะราษฎร ครูก็บอกว่าคณะราษฎรนี่ชั่วต่ำทราม ปรีดีเป็นคนเลว ซึ่งเราก็มีข้อโต้แย้ง เราก็เลยเอามาถามเขา แต่เราไม่ใช่ว่าเราก็ปฏิเสธความเชื่อเขานะ เขาแค่ให้เหตุผลไม่ดีเท่านั้น บอกว่าครูรู้ความจริงอย่างนี้มันไม่ได้ แล้วแบบทีนี้เพื่อนในห้องก็เชื่อด้วย ก็โจมตีปรีดี โจมตีคณะราษฎรให้เราได้ยินตลอดเวลา มันมีบางคนเชื่ออย่างนั้นจริง เราก็เลยไม่รู้จะทำยังไงดี เราก็เลยประกาศจุดยืนตัวเอง เลยทำเป็นจุลสารปรีดีขึ้นมาเลย ทำไปทำมาก็อยากที่จะขยายกิจการ จากในห้องเรียนไปขยายกิจการนอกห้องเรียน เราก็โดน ผอ. เรียกสั่งสอบสวน เราก็เลยกลายเป็นตัวอันตราย จากที่ตอนแรกเราทำลับ ๆ ด้วยนะ คือเราไม่ได้ชอบแสดงออกเท่าไหร่ เราแค่เขียน เพราะเราไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่การเขียนมันก็ทำให้เราต้องค้นคว้าด้วยเหมือนกัน ช่วงแรกผมก็คัดลอกนะหมายถึงว่าเขียนแล้วผมก็ไปคัดลอกข้อความในหนังสือพิมพ์ หรือจดบทความดัง ๆ มาเขียนให้คนอ่าน ช่วงหลัง ๆ มันก็ทำให้เราอยู่ในโลกวรรณกรรมโลกหนังสือ เราก็จะเชื่อมโยงไปกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็ทำให้เราเห็นภาพกว้างขึ้น จากที่เป็นเพียงหนังสือสอน

คำถาม: เหมือนเคยบอกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง แต่ว่าถ้าเกิดเป็นเรื่องงานเขียน ก็รู้สึกว่าจะถนัดมากกว่า เพราะมันเป็นการเก็บสะสมความคิดมาเรื่อย ๆ ใช่ไหมคะ

ก็อาจจะอย่างนั้นได้ ใช่

คำถาม: จากที่อ่านในหนังสือเรื่องห้าปีในรั้วมหาวิทยาลัย เนติวิทย์เคยเล่าว่าเคยภูมิใจในงานเขียนมากจนกระทั่งได้รับคำวิจารณ์ที่มันรุนแรง จนทำให้หันมาจับงานแปลแทน อยากจะถามว่ามันมีความเป็นมาอย่างไรคะ ตอนนี้ระหว่างงานเขียนกับงานแปลชอบอะไรมากกว่ากัน

เดี๋ยวนี้จะเลิกแล้ว จริง ๆ อยากจะเลิกแปลมานานแล้ว คือที่เราแปล เราแปลด้วยความจำใจ คือมันไม่มีคนแปลอะ งานที่เราเห็นว่ามันดี แค่นั้นเองจริง ๆ เราไม่ได้มีความสามารถในการแปลด้วยซ้ำ  แต่เพราะว่าคุณไปเห็นงานดีแล้วเห็นว่าแม่งคนไทยควรอ่าน มันจะเป็นหนังสือที่ทำให้คนไทยรู้ว่า ไอ้ประยุทธ์เนี่ย มันเลวร้ายกว่าที่คิด เผด็จการมันเลวร้ายกว่าที่คิด แล้วเราอ่านภาษาอังกฤษได้ แต่เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเรารู้ เราเลยมองว่าถึงเราบอกคนให้ไปแปล คนก็ไม่แปล มันก็บอกเห้ยหนังสือเล่มนี้ขายไม่ออกหรอก สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ก็คงไม่อยากเอาไปทำเราก็ต้องทำเอง เพราะว่าไม่มีคนทำก็เท่านั้นเอง แต่ก็โชคดีที่มีอาจารย์เขาช่วยตรวจช่วยแก้บ้าง ก็เลยทำให้มีคุณภาพ แต่ว่าช่วงแรก ๆ เราต้องทำด้วยตัวเอง ดังนั้นเราเลยแปลหนังสือเยอะมาก ถ้าคุณไปดูก็ตั้งสามสิบกว่าเล่มได้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปหาคนแปลจากไหนที่ยอมทำงานพวกนี้

คำถาม: เรียกได้ว่าสภาพสังคมมันบีบบังคับให้เราต้องมาเป็นคนแปลใช่รึเปล่าคะ

ก็ใช่ไง บางทีเราก็รู้สึกเศร้านะ ทำไมเราต้องทำงานอะไรพวกนี้ทั้ง ๆ ที่คนที่ควรแปลอะไรพวกเนี้ยคือเด็กอักษร อักษรมีวิชาบังคับการแปลด้วย แต่หลายคนก็ไม่มั่นใจในตัวเอง อาจเพราะว่ายังแปลไม่เก่ง ก็เลยไม่แปล ถ้ามันไม่เพอร์เฟกต์ มันไม่ควรแปล หรือว่าเขาก็อาจจะคิดว่า แปลแล้วไม่ได้เงินดีพอ  ซึ่งเราเข้าใจนะ บางคนบอกแปลไปทำไม ถ้าแปลแล้วไม่ได้เงินเยอะ ทำอย่างอื่นดีกว่า เราก็ช่วยไม่ได้
เพราะเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากเราต้องเรียกร้องด้วยตัวเราเองว่าเราต้องทำ  มันก็มีความสุขดีที่เราทำ แม้ว่าเราเห็นผลงานขายได้บ้างไม่ได้บ้างบางเล่ม
มีหนังสือเยอะมากที่คนไทยควรรู้ แต่ว่าไม่มีคนแปลอย่าง มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ คนเคลื่อนไหวผิวดำคนนี้ดังมาก เขาตายไปห้าสิบปีแล้ว แล้วงานเขียนเขาเรื่องสันติวิธีเยอะมาก แล้วเมืองไทยเราก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง แต่ทำไมเราไม่มีงานมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ในโลกภาษาไทย ที่ผ่านมามีแบบนิดนิดหน่อยหน่อย เราก็มาแปลให้เล่มสำคัญออกมาเล่มหนึ่ง อย่างงานเขียนของ ฮันนาห์ อาเรนท์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองชื่อดัง เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ในระบอบเผด็จการ เราก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการที่หลายคนยอมมาทำงานเป็นฟันเฟืองให้กับรัฐบาล ยอมตัดสินลงโทษคนที่บริสุทธิ์ แล้วก็มีนักคิดพวกนี้ที่ตั้งคำถาม แต่ทำไมเราไม่มีงานแปลของนักคิดพวกนี้ อย่างฮันนาห์ อาเรนท์เนี่ย ภาษาเกาหลีมีงานแปลเกือบทุกเล่มเลยนะ งานภาษาจีนงานชิ้นหลัก ๆ ก็แปลเป็นภาษาจีนเกือบหมด แล้วทำไมไทยเราไม่มี เราก็ไม่มีปัญญาทำงานชิ้นใหญ่ขนาดนั้นหรอก เราก็เลยได้แปลงานบางชิ้นของเธอออกมาให้คนได้ลิ้มรสดูก่อน เผื่อในอนาคตมีคนอยากแปลงานชิ้นใหญ่ ๆ

คำถาม: แล้วมีความเป็นไปได้ในอนาคตไหมคะว่าจะมาเขียนงานที่เป็นข้อความคิดตัวเองแบบเป็นเรื่องเป็นราว ที่ไม่ใช่แค่อัตชีวประวัติ

เป็นคำถามที่ดีมาก เราก็รู้สึกเบื่อ แล้วเราก็คิดว่า ชีวประวัติอะไร บ้าหรือเปล่า คนห่าอะไรเขียนเรื่องตัวเองมาตั้งหลายเล่มแล้ว  ไม่เขียนอะไรที่มันเป็นความคิดที่น่าสนใจบ้าง เราก็รู้สึกนะ เราก็อยากจะทำ แต่ว่าถ้าเราทำพวกนี้เราก็อยากทำให้มันดีไง ดังนั้นเราก็ต้องใช้เวลามาก คือเราอยากทำงานให้มันดีเหมือนกัน แต่ว่ามันต้องใช้เวลา เดี๋ยวช่วงไปบวชอาจจะได้คิดมากขึ้นก็ได้ เพราะไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็มีประเด็นที่สนใจอยู่หลายประเด็น

คำถาม: ก็คาดหวัง จับตารอหนังสือจากเนติวิทย์ได้เลย

อาจจะเป็นเชิงทฤษฎีอะไรมากขึ้นที่อยากทำ

คำถาม: มีอะไรจะเเบบฝากบอกถึงตัวเองในอนาคตที่จะต้องกลับมาอ่านงานเขียนของตัวเอง มาประจักษ์รับรู้การต่อสู้ของตัวเองในวันนี้ ในวันที่ผ่าน ๆ มาไหมคะ

ส่วนตัวเราก็พอใจกับสิ่งที่ทำ แต่เราก็อยากพ้นไปกับพวกนี้นะ ไม่อยากจมปลักอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่อยากจมปลักกับความสำเร็จขนาดนั้น มันเป็นอะไรที่ทำแล้วหลอกตัวเองได้ ทำให้หลงตัวเอง หรือว่าไม่ก้าวหน้า เราคิดว่าเรารู้สึกสบายกับสิ่งที่เราทำ แทนที่จะมองปัญหาที่มันมีร้อยล้านแปดอย่าง ดังนั้นเราก็พยายามสำหรับตรงนี้  งั้นเราก็พยายามเหมือนกัน เรื่องอดีตเราก็จะไม่ค่อยพูด ถ้ามันผ่านไปสักพัก ผมก็อัตโนมัติกับตัวเอง ก็จะไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเอามาถือว่าเป็นความสำเร็จ หรือเป็นความคิด มันจะได้ทำให้เราเดินหน้าต่อไป

คำถาม: ปลดปล่อยตัวเองจากอดีต ไม่ได้เอามามองย้อนตัวเองใช่ไหม

ใช่ ก็จะได้ทำอะไรใหม่ ๆ ได้ แน่นอนว่ามันยาก มันไม่ได้ง่าย เราก็มีความเป็นศิลปิน เราต้องผลิตงานออกมาเป็นชิ้นต่าง ๆ ใหม่ ๆ

คำถาม: เขียนเปลี่ยนสังคมได้ไหมคะ

ได้นะ แต่ว่าต้องจับประเด็นให้ดี คืออย่าไปเขียนในประเด็นที่มันซ้ำซาก เข้าใจนะ บางทีเราไม่ชอบอะไรในสังคมใช่ไหม เราก็เขียนแบบบ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ออกมา ซึ่งส่วนใหญ่มันก็จะคล้าย ๆ กัน เขียนเหมือนกันหมดมันไม่มีอะไรใหม่ เราเลยอยากแนะนำว่าถ้าการเขียนเปลี่ยนสังคมเนี่ย คุณต้องดูด้วยว่าเขียนแล้วเนี่ยมันไปกระตุกต่อมอะไรได้พอสมควรไหม ไม่ใช่เขียนเรื่องที่คนรู้อยู่แล้ว
ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้นคือเรื่อง Beauty Privilege ล่าสุดที่มันกลายเป็นที่ถกเถียง เรื่องจุฬาฯ คทากร เราเห็นใน Twitter มีทั้งคนมาโต้แย้งและสนับสนุนจำนวนมาก แต่ถ้าคุณอยากเขียนเปลี่ยนสังคมจริง ๆ เราแนะนำหัวข้อว่าคุณควรจะไปศึกษาให้จริงว่า Beauty Privilege มันมีอยู่จริงหรือเปล่า คุณควรลองไปทำสำรวจ หรือว่าไปค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าพวกที่เป็นคทากรจบไปแล้วไปทำงานอะไร หรือพื้นเพเค้าเป็นคนยังไง เป็นคนรวยหรือเปล่า หรือว่าเขาอาจจะเป็นคนจน หรือว่าคนที่เป็นจุฬาฯ คทากรส่วนใหญ่มาจากภาคกลางหรือเปล่า หรือมาจากที่ไหน คุณจะได้เข้าใจจริง ๆ ว่าอภิสิทธิ์ของความงาม มันมีจริงหรือเปล่า ซึ่งเราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นจุฬาฯ คทากรน่าจะเป็นคนที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ค่อนข้างดีกว่าคนอื่น เพราะคุณจะทำหน้าตาให้ดีก็ต้องใช้เงิน ครีมหรืออะไรแบบนี้ก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น มันก็มีโอกาสมากที่เค้าน่าจะมีต้นทุนทางบ้านที่ดีกว่าคนอื่น แต่ว่ามันไม่มีคนรู้จริง ทุกคนก็จะพูดด่าว่า Beauty Privilege มันไม่ดี หรือพวกชมก็จะบอกว่ามันไม่ได้เป็นปัญหา แต่ว่าไม่มีคนทำลงลึกจริง ๆ ในปัญหานี้ สังคมก็เลยคุยแต่เรื่องอะไรไร้สาระ ถ้าไม่ลงลึกมันก็จะกลายเป็นแค่ประเด็นที่พูดอย่างเดียว ไม่มีอะไรใหม่ เราอยากให้มีคนทำจริงๆ เพื่อพิสูจน์จริง ๆ ว่ามันเป็นยังไง

คำถาม: ต้องพยายามสรรหาแง่มุมในการมองอะไรใหม่ ๆ เสมอใช่ไหม

ใช่ ต้องอย่างนั้น สำหรับเราต้องหามุมมองใหม่ ๆ ตลอด ในการมองปัญหาหรือโยนคำถามที่คนไม่กล้าถาม บางทีเราก็รู้แหละ แต่เราก็อาจจะไม่กล้าถาม บางทีก็คิดว่าทุกคนคงรู้หมดแล้ว แต่ก็ไม่มีคนทำอะไร ปัญหาก็เลยไม่ได้รับการแก้ไข

คำถาม: ได้ต้นแบบ ได้รับอิทธิพลด้านการเขียนและความคิดมาจากใครบ้างคะ

ก็เยอะแยะนะ แต่ว่าอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์จะมีอิทธิพลมากในช่วงแรก คือช่วงแรกของคนในการเขียน เราว่าหลายคนอาจมีเลียนแบบบ้าง อย่างตัวเราก็เหมือนกัน เราชอบนักเขียนคนไหน เราอ่านเขาเยอะ สำนวนการเขียนเราก็อาจจะเป็นไปในแนวเขา แต่พอเราอ่านหลายคน อ่านมากขึ้นหรือเขียนมากขึ้น มันก็เริ่มเปลี่ยน มันก็จะมีความเป็นตัวเองมากขึ้น อันนี้เราสังเกตจากตัวเองนะ

คำถาม: ต้องลองเขียนลองคิดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอแนวตัวเองใช่ไหมคะ

ใช่ คือมันต้องเขียนเยอะ ๆ แล้วคณะเราน่าเสียดายว่าจริง ๆ ก็ไม่ได้ให้เด็กเขียนเยอะเท่าไหร่ แล้วเด็กก็ไม่ค่อยอยากเขียน ส่วนใหญ่แบบมันไม่ได้อยากจะเขียนขนาดนั้นอะ แล้วมันเป็นปัญหาของคณะรัฐศาสตร์คือคุณจบไปคุณทำงานอะไร ถ้าคุณไม่เขียน อย่างน้อยการเขียนมันเป็นสิ่งที่คุณน่าจะได้ทำได้ดีที่สุด เพราะคณะอื่นเขายังมีทักษะเฉพาะ อย่างรัฐศาสตร์ที่เขาสอนให้เราวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพวกนี้ ส่วนใหญ่เราไม่ได้เรียนจากคณะรัฐศาสตร์ ถึงรัฐศาสตร์จะเคลมว่าตัวเองมีแนวคิดเชิงวิพากษ์ แต่มันมาจากประสบการณ์ เช่น การไปคุยกับคนอย่างพี่นกที่ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม เราได้เรียนรู้ว่าสถาปัตย์ที่มีการมองลงมามันเลวร้ายยังไง เมื่อคุณไม่ได้รู้ว่าเขาจะไม่มีบ้านอยู่ ลูกเขาจะไม่มีที่ไป หมาเขาอีกห้าตัวจะไม่มีที่อยู่ คุณก็จะมองในแง่ว่ามันคือการพัฒนาพื้นที่ การที่จะทำแต่กำไรสูงสุด โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับคน อันนี้เราว่าบางทีสถาปัตย์ก็จะมองลูกค้าเกินไปจนลืมมองว่าจริง ๆ ลูกค้าคุณอาจจะไม่ถูกเสมอไป นี่ก็คือปัญหาที่เราคิดว่าหลายคณะก็เป็น เด็กรัฐศาสตร์ก็เป็น เพราะไม่ได้ไปเรียนรู้กับผู้คน บางทีเราเห็นแต่ตัวอย่างต่างประเทศ ดีจังเลยนะต่างประเทศเนี่ย ตัวอย่างมันดีจัง แต่เราก็ไม่เคยคิดอยากจะเอากลับมาทำในประเทศไทย เราก็คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม หรือเราคัดลอกเค้ามาโดยที่เราไม่ทันได้คิดถึงผลกระทบมันเกิดกับคนกับประชาชน

03 เมื่อศาสนาพัดพาชีวิต

คำถาม: นำข้อคิดจากพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงในการต่อสู้ที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

เรื่องหลักจริง ๆ ศาสนาพุทธ ที่คนอาจจะไม่ค่อยเห็นก็คือชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์รับได้ไหมกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ชีวิตคุณต้องไม่มีทางหยุดนิ่งแน่นอน ชีวิตคุณต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน พร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ๆ เราว่าสิ่งนี้มันพูดง่าย แต่มันทำยาก หรือว่าเราก็ไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าตัวตนเราหรือว่าคนอื่นเปลี่ยนไปใช่ไหม อุ๊ย ทำไมเพื่อนเราเปลี่ยนไป หรือทำไมคนไม่ฟังที่เราเสนอเลย และเราก็อาจจะรู้สึกแย่ แต่สิ่งเหล่านี้ถ้ามองให้ดีมันก็เหมือนเราที่ควรจะพัฒนาตนเอง หรือไม่ก็มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราต้องเรียนรู้ต้องเข้าใจว่า มันเปลี่ยนแปลงไปเพราะอะไรมันมีเหตุผลอะไร ก็เหมือนพระพุทธศาสนาเขาก็จะสอนเราว่าต้องใช้ความคิดนะ ไม่ใช่ให้เราแค่แบบนั่งอยู่เฉย ๆ เราต้องเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง เข้าใจเรื่องอำนาจ เข้าใจว่าใครถืออำนาจ เราจะต่อต้านอำนาจนั้นได้ยังไงแบบมีเหตุมีผล ต้องเข้าใจเขา

คำถาม: ก็คือเราต้องตั้งรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ตลอดแนวทางการต่อสู้ มันก็มีคนที่สูญหายไปบ้าง คนที่ยังอยู่ก็มี

ตัวเองก็เหมือนกัน เราก็ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง มันก็เกิดขึ้นได้

คำถาม: ช่วงหลัง ๆ เนติวิทย์มีความสนใจในศาสนามากขึ้น เช่น มีการตั้งกลุ่ม Interfaith กลุ่มศาสนา ไม่ทราบมาว่ามีความสนใจในศาสนาตั้งแต่เมื่อไหร่ ยังไง แล้วก็คิดว่าศาสนากับการต่อสู้ไปด้วยกันได้ไหม

สนใจมานานแล้ว ก็คิดว่าก็ไปได้ เมืองนอกเขาทำกัน เมืองไทยไม่ค่อยเห็น เพราะว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยมันถูกกดให้กลายเป็นอนุรักษ์นิยม ให้รับใช้กษัตริย์
ศาสนาต้องมาอวยพรให้กษัตริย์ ทำไมไม่อวยพรให้ราษฎร ไม่อวยพรให้เพนกวิน อวยพรให้รุ้งล่ะ
เนี่ยจริง ๆ มันก็ย้อนแย้ง แล้วศาสนาพุทธในเมืองไทยก็กดขี่ผู้หญิงจะตาย  เณรบวชได้ แต่ผู้หญิงอายุเท่ากันไปบวชมีไหมล่ะ ใครเขาจะเคารพนับถือ
สุดท้ายแล้วคุณก็มีหน้าที่ทำงานทำอาหารให้พระกินนั่นแหละ อย่างงี้มันก็เป็นการกดขี่  เป็นการบอกว่าผู้หญิงมีหน้าที่ทำงาน ทำอาหาร เลี้ยงดูครอบครัว เพื่อให้ผู้ชายมาปฏิบัติบรรลุธรรม ชาติหน้าคุณอาจโชคดีได้เกิดเป็นผู้ชาย
ก็เป็นแบบนี้มันมีค่านิยม บางวัดที่เชียงใหม่ที่ภาคเหนือเขายังไม่ให้ผู้หญิงเข้าโบสถ์เลย วัดพระธาตุอะไรเนี่ยแหละ เขาไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปเลยนะ เขาบอกว่าประจำเดือนเป็นของชั่วร้าย ห้ามเข้า มันชั่วร้ายอย่างไร อยากรู้เหมือนกัน

คำถาม: ต้องการจะสื่อว่าศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือรับใช้กลุ่มคน เป็นเครื่องมือในการกดขี่กลุ่มคนเพศหลากหลาย และก็เพศหญิงด้วยใช่ไหมคะ

ใช่ ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ แต่เมืองนอก อย่างในตะวันตก คนที่นับถือพุทธส่วนใหญ่จะเป็นพวกเดโมแครต คือฝรั่งพอโตมากับคริสต์ศาสนา เขาก็จะตั้งคำถามในเรื่องของพระเจ้า เรื่องพวกนี้คล้าย ๆ เรา ศาสนาพุทธมันค่อนข้างมีเหตุผล เพราะว่ามันไม่มีพระเจ้า แล้วมันก็เหมือนให้เรากำหนดชีวิตตัวเราเองมันอยู่ที่การกระทำของตัวเราเอง ในการทำ แต่ฝรั่งเขามีเสรีภาพอยู่ เพราะงั้นเขาก็ทำอะไรก็ทำได้ เขาก็คิดไปได้ แต่ของเราคือต้องมีชีวิตตัวเราเองนะ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาของสังคมที่ไม่เป็นธรรม มันก็คนละแบบกัน
ดังนั้นศาสนาพุทธของเราเลยเป็นอนุรักษ์นิยม ให้เราเป็นคนดี ให้เราปรับปรุงแต่ตนเอง ไม่ต้องไปปรับปรุงคนอื่น ไม่ต้องปรับปรุงสังคม มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

คำถาม: เหมือนว่าคนก็ทำบุญเพื่อตัวเองทั้งนั้นใช่ไหมคะ

ก็ใช่ ก็ศาสนาบ้านเราสอนแค่นี้อะ สอนว่าคุณทำดีคุณได้ขึ้นสวรรค์
คุณได้ขึ้นสวรรค์แล้วคนอื่นไปอยู่ไหน คนอื่นไม่ต้องไปสวรรค์กับคุณหรือไง
เราไม่เคยเห็นจะมีสอนเท่าไร ไม่ไปสวรรค์ด้วยกัน ทำไมไปคนเดียว

คำถาม: ศาสนากับการเมืองก็ถือว่าเป็นของคู่กันเลย แล้วก็เป็นเครื่องมือในการใช้กล่อมเกลาสังคมในรูปแบบหนึ่ง

ใช่ เอาไว้กล่อมเกลาพวกเราให้ไม่ต้องตั้งคำถามมาก ว่าจะบาปบ้าง เดี๋ยวตกนรกบ้าง หรือดีขึ้นหน่อย เดี๋ยวนี้ก็ไม่ให้คำอธิบายแล้วด้วย ถ้าไม่ทำคุณก็ติดคุก 112  ซึ่งยิ่งไม่สมเหตุสมผลเลย แต่พระไทยออกมาพูดไม่ได้ว่ามันสมเหตุสมผล  หรือถึงมีพระออกมาพูด แต่ก็ถูกสึกออก อยู่ไม่ได้

คำถาม: เห็นบอกว่าเป็นพระแล้วรวย

ใช่ เพราะพระก็เป็นอาชีพหนึ่ง แต่ทำไมคนยังนับถือมาก ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์บวช ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์รวยถ้าพูดจริง ๆ ผู้หญิงจะบวชแล้วรวยบ้างไม่ได้ ไม่ยอมรับ และคำนี้บางทีถูกเล่นงานหาว่าเป็นพวกนอกรีตด้วย ถ้าคุณบอก ฉันเป็นภิกษุณี เขาก็จับสึกได้

คำถาม: แต่พระต้องเกณฑ์ทหารนะ

พระต้องเกณฑ์ทหาร อันนี้ก็ย้อนแย้ง
พระห้ามฆ่าคน ฆ่าสัตว์ ถือว่าผิด แต่การเกณฑ์ทหารมีวัตถุประสงค์เพื่อฆ่าคน ฆ่าสัตว์ แต่ว่ามันก็สมยอมกัน
ความเชื่อนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ แต่ว่าพระไทยก็ปรับตัว จริง ๆ แม้กระทั่งเรื่องการกินเนื้อสัตว์ ถ้าพูดกันจริงๆ พระไทยก็กิน เเต่ว่าถ้าในหลายประเทศที่นับถือพุทธเขาจะไม่กิน แล้วก็ถือว่ามันค่อนข้างเป็นเรื่องที่ตลกมาก ในแง่หนึ่งเขาสอนว่าต้องมีความกรุณากับชีวิต แต่ว่าคุณดันไปกินเนื้อสัตว์  ในบางที่ที่อินเดีย พระอินเดียไม่ค่อยยอมรับพระไทยในแง่นี้ คนเขามองว่าพวกคุณมันย้อนแย้ง

คำถาม: มันมีความย้อนแย้ง เช่น ในเส้นทางของรั้วระบบการศึกษา มันเห็นได้ชัดว่าสถานศึกษาเอาตัวเองไปยึดอยู่กับวงการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ปัญหามันมาจากอะไรคะ คิดว่าจะแก้ไขอย่างไร

เพราะว่ามันมีช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยมีความไม่มั่นคงในอัตลักษณ์ของตัวเอง กลัวมหาอำนาจ กลัวสูญเสีย สิ่งนึงที่ผูกพันธ์สังคมหรือว่าชนชั้นนำให้เขามีตัวตนก็คือ พระพุทธศาสนา แล้วก็พระพุทธศาสนามันดีกว่าศาสนาคริสต์ยังไง มันก็มีช่วงหนึ่งที่ตะวันตกต้องการเอาศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ เพราะว่าทางนั้นเขาก็บอกว่าศรีวิไลซ์กว่า เราก็พยายามที่จะบอกว่าศาสนาของเรามันดี  วิธีหนึ่งที่จะทำให้คนถูกหลอมรวมก็คือ เอาศาสนาเข้าไปปลูกฝังคนในสังคม จริง ๆ ศาสนาพุทธมันควรเป็นอะไรที่มีเหตุมีผล เหมือนที่หลายคนบอกกัน ครูบาอาจารย์เขาก็จะบอกกันว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ว่าเราเรียนจริง ๆ นะ มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น พออะไรที่มันเป็นสถาบันทางการเมืองหรืออะไรที่เป็นโครงสร้าง มันก็เหมือนจะมีคำสั่งมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ทำให้จากที่มันเคยเปิดกว้าง อิสระ มันก็ไม่เป็นแบบนั้น มันก็เหมือนระบบราชการ พระก็เป็นเหมือนระบบราชการ มียศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่รู้กี่ขั้นกี่ลำดับ ศาสนาควรถูกปลดแอก

คำถาม: ถือว่าเป็นหัวข้อหนึ่งที่ควรจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นใช่ไหมคะ

ใช่ ศาสนาก็กดขี่คนไว้เยอะมาก กดทับอัตลักษณ์ส่วนบุคคลไว้มากมาย

คำถาม: มันต้องมีช่วงที่ผิดหวัง ท้อแท้ และสงสัยในความเชื่อของตนเอง อยากจะรู้ว่าศาสนามีส่วนช่วยในช่วงเวลาเหล่านั้นอย่างไรบ้างคะ

ก็มีบ้าง ยอมรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงให้ได้ การฝึกสติอะไรก็เป็นเรื่องดี การรู้ว่าสถานการณ์มันเกิดขึ้นตอนนี้ เราควรจะทำอะไร คิดสักเล็กน้อยก่อนกระทำ จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีศาสนาก็ได้นะเรื่องพวกนี้ แต่มันก็ช่วยคนได้เยอะ

คำถาม: อันนี้คือสาเหตุที่ไปบวชไหม

ส่วนหนึ่ง จริง ๆ อยากมีเวลาได้ฝึกสกิลตรงนี้ให้มากขึ้น โลกทุกวันนี้มันก็เต็มไปด้วยความรวดเร็วเกินไป แล้วมันทำให้บางทีอาจเกิดความสับสนได้ ตามไม่ทันบ้าง ยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ มันยิ่งตามไม่ทันเท่านั้น มันคือปัญหา มันเหมือนว่าโลกมันเร็วขึ้นเรายิ่งวิ่งตาม มันก็ยิ่งจะได้เร็วขึ้น แต่มันก็ไม่ค่อยจะเป็นแบบนั้นนะบางที มันก็อาจจะคิดว่าถ้าเราช้าลง เราจะเลือกสรรข้อมูลได้ดีมากขึ้นรึเปล่า แต่ว่าเราก็จะถูกแนวโน้มว่าเราต้องเร่งรีบต้องรู้ ต้อง productive การเป็นพระนี่มันไม่ productive นะ การอยู่กับตัวเองมันไม่ค่อย productive เท่าไหร่ คุณไม่ได้ผลิตอะไรเลย มันก็เป็นอีกแบบหนึ่งนะ เพราะว่าถ้าจริง ๆ แล้วเราก็ควรจะคิดว่าเรื่องนี้มันจะมีวันไหนไหมที่สังคมจะไม่ต้องมาถูกสั่ง ไม่ต้อง productive ตลอดเวลา ไม่ต้องต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นตลอดเวลา เป็นพระก็ไม่ได้ขนาดนี้ ซึ่ง
ผมว่าการบวชพระก็น่าสนใจนะ มันเป็นรูปแบบชีวิตที่อาจจะต่อต้านทุนนิยม ถ้ามองให้ดีนะ แต่ถ้ามองไม่ดีมันก็คือหนึ่งหนทางนำไปสู่ความรวย หรือกลายเป็นผู้มีอิทธิพล

คำถาม: พระเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านระบบทุนนิยมที่แบบเน้นให้คน productive หรือคะ

ถ้ามองให้ถูก เพราะบางทีก็พระนั่นแหละที่เทศน์ให้คน productive เช่น นั่งสมาธิแล้วเราจะรวยขึ้น เห็นเงิน หรือไม่ก็ ฝึกสติดี เวลาเจ้านายด่า เราจะได้มีสติ ไม่โกรธ ทั้งที่เจ้านายอาจทำไม่ดีก็ได้ บางทีศาสนามันก็เอาไว้กดคน สติก็เอาไว้หลอกคนได้ คือทำให้คนแบบไม่ต้องคิดเรื่องคนอื่น คิดเรื่องตัวเองอย่างเดียว คนอื่นเดือดร้อนหรือว่าตัวเองถูกกดขี่ก็อย่าไปคิด มองโลกในแง่ดีอย่างเดียว ก็เพราะเป็นเเบบนี้ ส่วนใหญ่พระเหมือนพวกไลฟ์โค้ช (life coach) อะไรแบบเนี้ย คล้ายกันเลย ถ้าดูดี ๆ แต่ว่ามันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นนะ มันปลดแอกศาสนาได้ มันมีคำสอนบางอย่างที่มันดี อย่างพระพุทธเจ้าเนี่ยสอนเรื่องอนัตตา (egoless) เรื่องการไม่มีตัวตน การไม่ยึดติดกับตัวตน คือให้เห็นว่าทุกๆ อย่าง มันถูกประกอบสร้าง ศาสนาพุทธสอนเรื่องการรื้อสร้าง (deconstruct) คุณต้องรื้อสร้างตัวตนของคุณว่าตัวตนของคุณมันไม่มีอยู่จริง แต่มันประกอบสร้างมาจากการที่คุณไปยึดติดว่ามันมีอยู่ พระเอามาใช้ในเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยจริง ก็ไม่กล้าวิจัยเท่าไหร่ ถ้าพระเห็นว่ากษัตริย์ก็แค่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประกอบสร้าง ปรัมปรานิทานนิยาย หรือการกดขี่คน พระจะกล้าวิจารณ์กษัตริย์ไหม

คำถาม: แล้วเหตุผลหลักที่อยากไปบวชคืออะไรคะ

ก็อยากไปบวช เพราะว่าอยากจะฝึก อยากเรียนรู้ noble silence เรื่องความเงียบ ความเงียบเนี่ยตอนนี้เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ถ้าลองไปศึกษาดี ๆ มันเยียวยาคนได้ด้วย คนเวลามีความทุกข์มาก ๆ บางทีการเงียบมันช่วยได้มากกว่าการที่คุณพูด เวลาที่คุณเสียใจ การอยู่เงียบ ๆ มันก็ช่วย แต่โลกทุกวันนี้มันไม่ได้เห็นคุณค่าของชีวิตที่เงียบสงบมากเท่าไหร่ ก็อยากเรียนรู้เฉย ๆ ว่ามันจะเป็นยังไง ถ้าเราต้องไปใช้เวลาไม่ต้องทำอะไรมาก อยู่ตรงนี้มันต้องทำอะไรเยอะเหมือนกัน ต้องคิดแผนการนั่นนี่ หรือเล่นโทรศัพท์ ส่องทวิตเตอร์ ต้องคิดตลอด แต่ถ้าแบบนั้นมันจะเป็นยังไง คือเราไม่เห็นชีวิตเราในแบบเด็ก ๆ ที่เราไม่ต้องสนใจเรื่องชีวิตแบบนี้มานานแล้ว การเป็นพระก็อาจจะทำให้กลับไปใช้ชีวิตแบบตอนนั้นมั้ง
อีกเรื่องหนึ่งคือเราบวช เราไม่รู้ผมจะบวชนานแค่ไหน อย่างน้อยก็สี่เดือนอย่างต่ำ หรือหนึ่งพรรษา ทำมากกว่านั้นก็อาจจะบวชจนถึงติดคุกเกณฑ์ทหารเลย คือบวชให้ครบไม่ได้เพราะผมต้องไปเกณฑ์ทหารเดือนเมษายนปีหน้า

คำถาม: ขอผ่อนผันได้ไหม

ไม่ได้ เพราะมันให้แค่ถึงช่วงเวลาหนึ่งใช่ไหม เพราะงั้นมันก็ไม่ได้ ตอนนี้เราผ่อนผันครบแล้ว คือครั้งหน้าคุณต้องไปจับฉลาก ไม่งั้นก็เข้าคุก

คำถาม: เนติวิทย์เรียกตัวเองว่าผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยมโนธรรมถูกไหมคะ ในอนาคตอาจจะต้องรับโทษเข้าคุกเนี่ย มีคนบางคนพูดว่าคุกที่เนติวิทย์เข้าไปคงได้รับความเจริญแน่นอน

ไม่รู้จริงหรือเปล่า (หัวเราะ)

คำถาม: แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ฉายภาพเน่าเฟะของวงจรอุบาทว์ทหารไทย แล้วเราจะมาร่วมกันหยุดวงจรอุบาทว์การเกณฑ์ทหารได้อย่างไรคะ

มันมีหลายวิธี หนึ่งในนั้น คือ คนไทยควรจะรับความจริงให้ได้ก่อนว่า
การต่อต้านการเกณฑ์ทหารมันมีสูตรสำหรับเรานะ คือการที่คุณต้องไม่จับใบดำใบแดงแล้วก็ต้องไม่เรียน ร.ด. ด้วย ต้องชนกับระบบ
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำแบบนั้น มันไม่มีคนทำมาก่อน เพราะว่าคุณประนอมกับระบบนี้ ถ้าพูดจริงๆ คุณไปเรียน ร.ด.เพราะคุณเอาตัวรอด ส่วนใหญ่ไม่มีคนไปเรียนเพราะอยากเป็นทหารหรอก เพราะถ้าคุณอยากเป็นทหาร คุณจะต้องไปจับใบดำใบแดงหรือว่าคุณต้องสมัครไป และระบบมันก็ไม่ได้ฝึกอะไรให้คุณได้เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไรหรอก แล้วมันก็กดทับคนที่ไม่มีเงินต้องไปเรียนหรือสอบไม่ผ่าน  แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นคนยากคนจนทั้งนั้น ไม่มีการมีงานก็เลยต้องไปเกณฑ์ทหาร ก็ถูกซ้อมถูกกระทืบ ขณะที่คนเรียน ร.ด. เค้าสบาย

คำถาม: แล้วคิดว่าจะแก้อย่างไรคะ

ก็ต้องเอาตัวเองเข้าไป ถ้าคุณพร้อมจะติดคุกเรื่องนี้สักพันคน เราว่ามันก็อาจจะแก้ไขได้ เหมือนที่เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ก็มีคนต่อต้านเกณฑ์ทหาร ติดคุกร่วมๆหลายพันคนนะ มันทำให้ตอนนี้เขาเริ่มมีการอยากจะปรับเรื่องนี้มากขึ้น

คำถาม: มันต้องติดกี่ปีนะคะ

ประมาณสองสามปี ก็มันเป็นกฎหมาย คุณหนีทหาร คุณก็ต้องติดคุก

คำถาม: แล้วก็ต้องไปคุกทหารเหรอคะ

ไม่แน่ใจ อันนั้นค่อยว่ากัน แต่ว่าเราก็มีเวลาน้อยไง การไปบวชก็ช่วยเรา นี่คือเหตุผลข้อใหญ่

คำถาม: ก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือคะ

ถ้ามันโชคดีหน่อยเราอาจจะไม่ติดก็ได้ ซึ่งถ้าโชคดีอาจจะมีการต่อสู้ทางกฎหมายกันได้ ในกรณีนั้น แต่ว่ามันมีโอกาสน้อยมาก เพราะว่าสมมุติว่าถ้าเราไม่ติดคุก แล้วคนอื่นเขาก็ทำแบบเรา แล้วรัฐทหารเขาจะอยู่ได้ยังไง แต่รัฐทหารก็คือปัญหา มันก็ต้องมีคนทำแบบนี้ คือเมื่อก่อนเราก็กลัวนะ เราไม่อยากเข้าคุกหรอก เราพยายามหลีกเลี่ยงมากนะ ทุกวิถีทางเลย คือเราเคยโดนคดีความในการต่อต้านประยุทธ์ แล้วมันทรมานผมมาก เราต้องขึ้นศาลทุกเดือนเลย สุดท้ายศาลยกฟ้อง มันเสียเวลาชีวิต แต่เราเห็นพวกเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ ที่เขาไปเข้าคุกอะ รู้สึกว่าคุกมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น คือเมื่อก่อนกลัวมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้กลัวแล้ว ถ้าเขากล้ากันขนาดนั้นทำไมผมจะยอมไม่ได้

คำถาม: ถ้าเกิดไปบวช คิดว่าตัวเองจะไปยืนตรงจุดไหนของวงการพระพุทธศาสนาในวงการพระสงฆ์

ยังไม่รู้หรอก แต่ว่าถ้าเราทำได้ดีเราอาจจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับสังคมสงฆ์ได้ เช่นอาจจะเป็นปากเป็นเสียงในบางเรื่องในประเด็นสำคัญ ๆ ได้  เรื่องภิกษุณี เรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่รู้เหมือนกัน ก็อยู่ที่ความพยายาม

คำถาม: แบบที่บอกว่าต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ใช่ เราก็อย่าไปรีบตัดสินมากเกินไป

คำถาม:  ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เนติวิทย์ต้องเผชิญกับความรู้สึกของการเป็นคนนอก  ต้องทนต่อการถูกรังแกจากความอยุติธรรมต่าง ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มามันเป็นคุณกับคนรุ่นหลังมาก ๆ เนติวิทย์มีอะไรที่อยากบอกส่งท้ายกับรุ่นต่อ ๆ ไปบ้างคะ

เราไม่ได้คาดหวังหรอกว่าคนจะต้องมาขอบคุณ
ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป เราเองก็ต้องทำเรื่องนี้ต่อ
ไม่อย่างงั้นมันก็เหมือนเราลงแรงไปเปล่าประโยชน์เหมือนกัน เหมือนทำเสร็จแล้วให้คนเหล่านี้เข้ามาแล้วก็ใช้ชีวิตกันแบบยังไงก็ได้ ไม่สนใจ ไม่จำเป็นต้องสืบต่อหรอก ไม่ได้สนใจที่จะปรับปรุงอะไรให้มันดีขึ้น แต่เขาแค่เสวยสุข มันก็เละ หรือคณะราษฎรให้เปลี่ยนแปลงการปกครองใช่ไหม คนก็ไม่สนใจประชาธิปไตยมันคืออะไร  ได้มาแล้วสิทธิเสรีภาพ ก็ใช้ชีวิตแบบไม่สนใจ สุดท้ายมันก็ต้องกลับไปเป็นสภาวะเหมือนเดิม

คำถาม: มองการต่อสู้เป็นเส้นทางระยะยาวที่เราต้องเดินไปกับมันอย่างไรบ้าง

ก็สู้บ้าง คือ
ถ้าตั้งเป้าหมายได้บ้างก็ดี มีโอกาสชนะก็ดี เเต่มันระยะยาว ต้องค่อย ๆ เก็บ เลเวลไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ เก็บเควสไปเรื่อย ๆ
เหมือนเราเริ่มจากการกล้าเขียนในห้องเรียนก่อน เราอยากขยายใหญ่ขึ้น จากนั้นก็เริ่มมาทำสำนักพิมพ์ ตอนเเรกผมเริ่มตั้งคำถามกับการรับน้องของคณะศิลปกรรม ตอนนั้นคือด่าอบจ.เลย พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ตอนนั้นทำไมอบจ.ไม่ออกเเถลงการณ์ เขาบอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่เขา
เราก็ต้องเก็บเควสไปเรื่อยๆ จากนั้นก็หาคนที่มีเเนวคิดเหมือนกัน อย่างเราก็มาตั้งต้นที่คณะรัฐศาสตร์ เเล้วก็ไปที่อบจ. เเล้วก็ถูกบอสรองไล่ลงมา เเล้วเราก็ต้องเริ่มใหม่ สุดท้ายมันก็คือการเดินทาง มีล้มบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่เราก็ต้องลุกขึ้นมาและก้าวต่อไป



Related Post

Interview

ประวัติศาสตร์ชีวิตและความผูกพันที่มีต่อคณะรัฐศาสตร์ของ “พี่ปื๊ด”

เรื่อง Write to Raise

Write for Rights

Chula Inside(rs): ชุดนิสิตกับเสรีภาพที่หายไปในรั้วจุฬาฯ

เรื่อง Write to Raise

Write to Raise

Writing and Translating as Ways to Protect and Promote Democracy

ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนิสิตที่มองเห็นปัญหาในสังคมรอบตัวและต้องการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ

Contact Us

[email protected]