ฮิญาบ: สัญลักษณ์การถูกกดขี่ หรืออัตลักษณ์เครื่องแต่งกาย

ท่ามกลางกระแสเสรีนิยมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างทางความคิดที่หลากหลายขึ้นในสังคม มีคนจำนวนไม่น้อยที่พูดถึงและตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของศาสนาอิสลาม ทั้งในแง่คำสอนและหลักปฏิบัติ สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรนำมาปรับใช้หรือไม่ เพราะหลักปฏิบัติของศาสนาที่นอกจากเคร่งครัดแล้วยังจำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมไปถึงคำสอนที่มีความเป็นปิตาธิปไตย กดขี่สตรี ประเด็นที่กล่าวอ้างมานี้นั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำถาม และข้อถกเถียงในสังคมเสมอมา อีกทั้งยังเปรียบการแต่งกายของสตรีที่สวมฮิญาบหรือผ้าคลุมที่ปกปิดผมและศีรษะตามหลักศาสนาเป็นการแต่งกายที่หมายถึงการยินยอมให้กดขี่ ในโลกเสรีนิยมที่ฮิญาบเป็นเพียงอัตลักษณ์เครื่องแต่งกายจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการถูกกดขี่ ซึ่งนั่นทำให้สตรีผู้สวมใส่ฮิญาบถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม

เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ในคำสอนของศาสนาอิสลาม บทความนี้จึงมุ่งแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการคลุมฮิญาบ และสภาวะทับซ้อนที่กดทับสตรีอิสลามผู้สวมใส่ฮิญาบเป็นผลจากคำสอนศาสนา หรืออคติเหมารวมจากผู้คนภายในสังคม

หากพิจารณาความหมายของฮิญาบผ่านหลักคำสอนที่พระเจ้าได้บัญญัติไว้ ฮิญาบไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการปกปิดเรือนร่างเท่านั้นแต่ยังคลอบคลุมไปถึงการกระทำและจิตใจ คำบัญญัตินี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้าดั่งที่ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน

“ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แท้จริงเราได้ประทานลงมาแก่สูเจ้าซึ่งอาภรณ์เพื่อปกปิดสิ่งพึงอายของสูเจ้า และเป็นเครื่องประดับ แต่อาภรณ์แห่งการสำรวมตนจากความชั่วนั้นดียิ่ง นั่นคือหนึ่งจากโองการทั้งหลายของพระเจ้าเพื่อพวกเขาจะได้รำลึก และสำรวมตน” (อัลอะอฺรอฟ 7:26)

จากคำบัญญัตินี้การปกปิดร่างกายจึงมิใช่การกระทำเพื่อมนุษย์เพศใดเพศหนึ่งอย่างที่สังคมตีความ อีกทั้งยังมีบัญญัติเพิ่มเติมถึงการกำหนดให้ปกปิดสิ่งที่พึงสงวนทั้งหญิงและชาย โดยเพศหญิงต้องปกปิดทั้งร่างกายยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ ส่วนเพศชายได้กำหนดให้ปกปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า

“จงบอกแก่บรรดาบุรุษผู้มีศรัทธาให้พวกเขาลดสายตาลงต่ำ และให้พวกเขารักษาสิ่งพึงสงวนของพวกเขา นั่นเป็นการบริสุทธิ์ยิ่งแก่พวกเขา แท้จริงพระเจ้าทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเขากระทำ” (อัลนูร 24:30)
“และจงบอกแก่บรรดาสตรีผู้มีศรัทธาให้พวกนางลดสายตาลงต่ำ และให้พวกนางรักษาสิ่งสงวน และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกนาง เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และพวกนางต้องปิดด้วยผ้าคลุมศีรษะของนางลงมาถึงหน้าอกของนาง…)” (อัลนูร 24:31)

ไม่มีคำสอนและคำสั่งใดจากพระเจ้าที่เอ่ยโดยยกเพศนึงขึ้นสูงหรือกดเพศใดต่ำลง หากแต่แตกต่างกันไปตามสถานะและบริบทแต่ละเพศ แต่เนื่องจากชุดความรู้เกี่ยวกับสตรีที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งในกระแสหลักและสังคมมุสลิมถูกผลิตซ้ำโดยผู้รู้ศาสนาเพศชาย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในชุดความรู้เหล่านั้นมีความเอนเอียงในเพศใดเพศหนึ่งที่ก่อให้เกิดอิทธิพลความเป็นปิตาธิปไตยในคำสอน และกดทับความเป็นสตรีผิดแผกไปจากคำบัญญัติเดิมของพระเจ้าก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและถูกตีตราจากคนต่างศาสนิก แม้เป็นเช่นนั้นใช่ว่าสตรีผู้นับถือศาสนาอิสลามจะยินยอมต่อการผลิตซ้ำชุดความรู้ที่ลดทอนความเป็นสตรีเหล่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการตั้งคำถาม รวมถึงเรียกร้องสิทธิสตรีจากความอยุติธรรมที่ผลิตซ้ำชุดความรู้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอยู่เสมอ เพียงแต่ไม่ได้รับความสนใจจากคนในสังคมมากพอ และนอกจากสังคมอิสลามแล้ว สังคมโลกเองก็ถูกครอบงำโดยปิตาธิปไตยเช่นกัน แม้ส่งเสียงเรียกร้องเท่าไรก็ไม่สามารถปลดแอกจากบรรทัดฐานทางสังคมที่กำหนดความเป็นหญิงได้ และนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สตรีผู้นับถือศาสนาอิสลามและสวมใส่ฮิญาบถูกอำนาจทับซ้อนกดทับ

เพื่อวิพากษ์อํานาจครอบงําสังคมจากปิตาธิปไตยและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสตรี แนวคิดสตรีนิยมจึงถือเกิดขึ้นโดยคํานึงถึงความเท่าเทียมกันและเคารพตัวตนของทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของเวลา อุดมการณ์ของนักสตรีนิยมได้แตกออกเป็นหลายสาย หนึ่งในนั้นคือนักสตรีนิยมผิวขาวที่เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดสตรีนิยมกระแสหลักซึ่งมีการบิดเบือนกรอบแนวคิดบางประการของสตรีนิยม ตีตราฮิญาบเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ และไม่เปิดรับนักสตรีนิยมอิสลามที่สวมฮิญาบว่าเธอเองก็เป็นหนึ่งในนักสตรีนิยม อีกทั้งยังละเลยปัญหาและการเคลื่อนไหวของผู้คนร่วมอุดมการณ์ นักสตรีนิยมผิวดําเคยออกมาวิพากษณ์การเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยมผิวขาวว่าละเลยการต่อสู้เพื่อยุติการเหยียดผิวและแบ่งชนชั้น แนวคิดสภาวะทับซ้อนจึงเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ของนักสตรีนิยมที่ซึ่ง Kimberly Crenshaw นักสตรีนิยมผิวดำชาวแอฟริกันผู้เคยประสบกับการกดขี่และเหยียดเชื้อชาติได้พูดถึงแนวคิดสภาวะทับซ้อนของอัตลักษณ์และอำนาจเป็นคนแรก มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในความซับซ้อนของสภาวะปัญหาต่าง ๆ ที่สตรีเคยเผชิญ แนวคิดนี้ได้ถูกนำไปปรับใช้กับการศึกษาสภาวะทับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ชนชั้น และศาสนา เพื่อพิจารณาปัญหาโดยแยกออกเป็นส่วน ๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนกัน เป็นผลให้เกิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้สิทธิของคนทุกอัตลักษณ์ โดยสภาวะทับซ้อนที่สตรีผู้นับถือศาสนาอิสลามสวมใส่ฮิญาบถูกกดทับจากผู้มีอคติทางศาสนาหรือมีสภาวะหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ผ่านอัตลักษณ์ฮิญาบที่เธอคลุม และศาสนาที่เธอนับถือ อีกทั้งความเป็นสตรีของเธอก็ทำให้ถูกกดขี่จากระบอบปิตาธิปไตย ดั่งเช่นที่มุสลิมผู้อพยพจากภูมิภาคตะวันออกกลางในเยอรมันมีความเห็นตรงกันว่าฮิญาบคือสิ่งที่สำคัญของชีวิตและอัตลักษณ์ของพวกเธอ ฮิญาบสามารถย้ำเตือนได้ว่าเธอคือใคร ฮิญาบคือสิ่งที่เธอเลือกคลุมเพราะเป็นสิ่งที่ปกป้องเธอจากความรู้สึกไม่มีตัวตนในสังคม อีกทั้งยังมีคุณค่าในชีวิต มีวัฒนธรรม มีศาสนาที่เธอเชื่อและนั่นทำให้เธอยังอยู่ พวกเธอจึงไม่เคยมีความคิดอยากเลิกใส่ผ้าคลุมแม้จะทำให้ถูกคุกคามและไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรที่เธอสามารถเรียกร้องจากคนในสังคมได้ ซึ่งไม่ว่าเธอต้องการแต่งกายเปิดเผยหรือปกปิดเรือนร่างล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิเสรีภาพในร่างกายของเธอทั้งสิ้น หากเธอนิยามว่าตนเองเป็นนักสตรีนิยม นักสตรีนิยมกระแสหลักไม่ควรกีดกันเธอออกจากการเคลื่อนไหวหรือไม่นับว่าพวกเธอเป็นหนึ่งในนักสตรีนิยม เพราะแท้ที่จริงแล้วแนวคิดสตรีนิยมคืออุดมการณ์ที่ต้องต่อสู้ให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในสังคม ไม่ควรมีใครถูกเลือกปฏิบัติ ผู้คนทุกกลุ่ม ทุกอัตลักษณ์ควรได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตทัดเทียมกันอย่างยุติธรรม

หากแต่มีความจริงบางประการที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางประเทศใช้อำนาจในการกดขี่บังคับให้สตรีคลุมฮิญาบโดยออกกฎหมายอ้างหลักการของศาสนาผ่านการออกแบบจากเพศชายและผู้มีอำนาจในนามศาสนา หากมองในมิตินี้สามารถพิจารณาได้ว่าปัญหาเกิดจากอำนาจนิยมที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการกดทับผู้คนในสังคม ทำให้สตรีไม่มีความสามารถในการเลือกตัดสินใจ แม้หลักการคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอ่านพระเจ้าได้ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดีจุดประสงค์ที่แท้จริงของการคลุมฮิญาบนั้นเป็นเพียงการปกปิดร่างกายเพื่อให้สตรีได้สำรวมตน และระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอยู่เสมอ อีกทั้งยังแสดงให้คนในสังคมได้เห็นถึงอัตลักษณ์เครื่องแต่งกายของสตรีผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นในโลกเสรีนิยมที่ผู้คนยึดถือในสิทธิเสรีภาพ จึงควรเข้าใจและเปิดรับในความต่างทางอัตลักษณ์เพื่อความเท่าเทียมกันของคนในสังคม


บรรณานุกรม

Hasan, M. M. (2018). The feminist “quarantine” on hijab: A study of its two mutually exclusive sets of meanings. Journal of Muslim Minority Affairs, 38(1), 24–38. https://doi.org/10.1080/13602004.2018.1434941

Paz, A., & Kook, R. (2020). ‘It reminds me that I still exist’. critical thoughts on intersectionality; refugee Muslim women in Berlin and the meanings of the hijab. Journal of Ethnic and Migration Studies, 1–18. https://doi.org/10.1080/1369183x.2020.1757417

Yingwatkrai, M. (2012). ฮิญาบในบัญญัติอิสลามศึกษาทรรศนะของนักวิชาการอิสลามและนักศึกษามุสลิมะฮ์ ในกรุงเทพมหานคร (thesis). Mahidol University, Bangkok.

Suepaisan, N. (2015). ผู้หญิงมุสลิมในยุคโลกาภิวัฒน์: ตีความและต่อรอง, ศรัทธาและความเปลี่ยนแปลง. หน้าแรก ประชาไท. Retrieved September 10, 2021, from https://prachatai.com/journal/2015/12/63168.

feminista. (2021, February 28). Feminista knowledge: ทำความรู้จักกับแนวคิดอัตลักษณ์และอำนาจทับซ้อนในมุมมองแบบเฟมินิสม์. feminista. Retrieved September 10, 2021, from http://www.feminista.in.th/post/feminista-knowledge-intersectionality.

Life, H., About author View all posts Author website Halal Life , posts, V. all, & website, A. (2021, September 7). อคติเหมารวมคือการกดขี่ผู้หญิงมุสลิม. Halal Life Magazine. Retrieved September 10, 2021, from https://www.halallifemag.com/why-stereotypes-are-oppressive-to-muslim-women/

Related Post

Write for Rights

Chula Inside(rs): ชุดนิสิตกับเสรีภาพที่หายไปในรั้วจุฬาฯ

เรื่อง Write to Raise

Write for Rights

Roe V. Wade และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของ birthing person

เรื่อง Write to Raise

Write to Raise

Writing and Translating as Ways to Protect and Promote Democracy

ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนิสิตที่มองเห็นปัญหาในสังคมรอบตัวและต้องการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ

Contact Us

[email protected]