Chula Inside(rs): ชุดนิสิตกับเสรีภาพที่หายไปในรั้วจุฬาฯ

“ชุดนิสิต” เครื่องแบบที่เคียงคู่จุฬาฯ มาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่สื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว พ่วงมากับความเป็นระเบียบเรียบร้อย  เมื่อวัฒนธรรมและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ชุดนิสิตเองก็มีห้วงเวลาผันเปลี่ยนเฉกเช่นเดียวกัน

กระทั่งในปัจจุบัน ยุคสมัยที่วัฒนธรรมและสังคมต่างเห็นคุณค่าของ “เสรีภาพ” แต่ชุดนิสิตในปัจจุบันกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อ “จำกัดและลิดรอน” เสรีภาพในการแต่งกายของนิสิตอยู่เนือง ๆ เสียเอง ผ่านกฎระเบียบข้อบังคับการแต่งกายในการเข้าเรียนของบางคณะและการเข้าสอบ ซึ่งจะมีตั้งแต่โทษฐานเบาจนถึงตัดคะแนนและพ้นสภาพการเป็นนิสิตในท้ายสุด ทั้งที่อัตลักษณ์อันเก่าแก่นี้ไม่ควรถูกจัดมาเป็นเครื่องมือหรือกฎข้อบังคับการแต่งกายของมหาวิทยาลัย แต่ควรเป็นอีกหนึ่งเครื่องแบบทางเลือกที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกสวมใส่เสียมากกว่า

ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมขอต้อนรับการเปิดเรียน ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2565 ด้วยบทความที่จะพาผู้อ่านไปสำรวจความคิดเห็น และ “เสรีภาพที่หายไปในรั้วจุฬา” ในเรื่องการแต่งกายของนิสิตอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผ่านการให้สัมภาษณ์ (เชิงเม้าท์มอย) ของนิสิตจุฬาฯ ทั้งจากคณะที่ “เคย” และ “ยังคง” เข้มงวดกับการบังคับแต่งกายชุดนิสิต

Chulalongkorn University's uniform
“เราก็พูดกับเพื่อนบ่อยว่าอยากแต่งกายตามความสมัครใจบ้าง อย่างชุดนิสิตทั้ง 5 วันอย่างนี้ เราก็ไม่ได้ซื้อชุดนิสิตครบทั้ง 5 วันหรอก”
“เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าในวันที่เพื่อนคณะอื่นหรือเพื่อนมหาลัยอื่นใส่ชุดอะไรไปก็ได้ แต่เราต้องกลับมานั่งรีดเสื้อไปเรียน ต้องเตรียมตัวก่อนหนึ่งคืนก่อนที่จะไปเรียนวันพรุ่งนี้ มันทำให้เราตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วทำไมคณะอื่น มหาลัยอื่นถึงทำได้ ทำไมคณะเราถึงทำไม่ได้”
“มีติดไว้ก็ได้ชุดนึงเข้าพิธีการ เรายอมรับว่าเวลาถ่ายรูปชุดนิสิตหรือ uniform แบบเดียวกันด้วยกันในภาพถ่ายมันสวย แต่บังคับให้ใส่มาทุกวันเราว่ามันแบบ….(นิ่งไปครู่หนึ่ง) อ่ะ อย่างกระดุม เข็มขัด อย่างนี้อ่ะ (น้ำเสียงแข็งกร้าว)”
“เอาเข้าจริง ๆ ชุดนิสิตก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใหญ่ในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องแบ่งไปซื้อนะ”

เสียงเซ็งแซ่ในห้องวิชิตชัยของตึกกิจกรรมนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ระหว่างที่นิสิตด้วยกันเอง บอกกล่าว เล่าเรื่อง ถกเถียง และแสดงความเห็นกันอย่างออกรสเกี่ยวกับเสรีภาพในการแต่งกายที่ล่องหนในรั้วจุฬาฯ ตั้งแต่กฏระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด รวมไปถึงเครื่องแบบอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ยังคงมีประเด็นต่าง ๆ เช่น ราคาชุดนิสิต ความยากง่ายในการสวมใส่ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลนักต่อการบังคับให้นิสิตใส่เข้าเรียนและเข้าสอบ อีกทั้งยังมีบทลงโทษตั้งแต่โทษฐานเบากระทั่งโทษฐานหนัก

แม้ครั้งนี้จะเป็นการสัมภาษณ์ แต่ก็เป็นการสัมภาษณ์อย่างเสรีที่ทุกคนสามารถแสดงความเห็นต่อคำถามได้ทุกเมื่อ

“จริง ๆ เรื่องความเหมาะสมในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น การไปศาล หรือ การไปทำกิจกรรมอื่นๆที่เป็นทางการ เราต่างจะรู้กาลเทศะเรื่องการแต่งกายอยู่แล้ว ซึ่งชุดนิสิตก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการแต่งกายที่สุภาพและสมเหตุสมผล แต่ในเรื่องบังคับให้แต่งกายชุดนิสิตมาเรียนในคณะ เราเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะการแต่งกายชุดนิสิตไม่ได้มีความเกี่ยวข้องต่อการเรียนรู้ของเราเลย”
Chulalongkorn University's uniform

น้ำเสียงที่แสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นและตรงไปตรงมา ของ เฟิร์ส (ปฏิพล ดาระภา) นิสิตคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ชั้นปีที่ 2 ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบังคับแต่งกายชุดนิสิต แม้เมื่อไม่นานมานี้คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ จะอนุญาตให้นิสิตแต่งกายด้วยชุดสุภาพเข้าเรียนได้แล้ว

“สำหรับคณะนิติศาสตร์นะครับ แต่ก่อนจะมีการบังคับให้นิสิตต้องแต่งกายชุดนิสิตมาเรียนตลอดทุกครั้งที่มาเรียนและมาสอบ แต่เมื่อวานที่ผ่านมา (วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565) มีการประกาศบันทึกข้อความจากคณะอาจารย์นิติศาสตร์ ที่อนุญาตให้นิสิตสามารถแต่งกายชุดนิสิตหรือชุดสุภาพมาเรียนก็ได้แล้ว”

Q: รู้สึกอย่างไรบ้างกับการเปลี่ยนแปลงแบบสดๆร้อนๆครั้งนี้ของคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ?

“เรารู้สึกว่าเป็นปรากฏการณ์ (หัวเราะ) และสัญญาณที่ดีสำหรับคณะนิติศาสตร์นะครับ เพราะเรารู้สึกว่า มันเสียทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เรารู้สึกว่าถ้าลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ มันลดไปได้หลายอย่างเลย ถ้าเป็นผู้หญิงคือลดเรื่องการเสียเวลาด้วย แล้วก็มันเป็นเสรีภาพในการแต่งกายของเรา”

Q: แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างที่ยังต้องใส่ชุดนิสิตไปสอบอยู่?

“ถ้าสำหรับการสอบ ส่วนตัวเราโอเคถ้าใส่แค่ตอนสอบ เพราะเวลาสอบเราก็ใส่ uniform เป็นปกติ เวลาเราไปสอบ มันง่ายต่อการตรวจสอบ”

แล้วพูดเสริมต่อว่า

“แต่จริง ๆ เราอยากให้ยกเลิกนะ (หัวเราะ) เพราะถ้าไม่ใส่ไปสอบจริง ๆ มันก็ได้เหมือนกันนะ”
“เหตุผลคืออย่างที่อาจารย์คณะเราได้โพสต์ลงใน Facebook เลย สำหรับเหตุผลที่ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนิสิตนะ อาจารย์โพสต์ว่า การเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องแบบนิสิตอ่ะ เพราะนิสิตทุกคนพึงมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ”

Q: อย่างนี้แล้วอยากให้จุฬาฯเปลี่ยนกฎข้อบังคับหรือเปล่า?

“ส่วนตัวเรารู้สึกว่าอยากให้เปลี่ยนเป็นการแต่งกายตามความสมัครใจเลยอ่ะ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใส่ชุดนิสิตหรือว่าไม่ใส่ก็ได้ (แต่งกายด้วยชุดสุภาพแทน) ตอนมาเรียนมาสอบ”
Chulalongkorn University's uniform

อย่างไรก็ดี แม้หลายคณะจะเริ่มเปลี่ยนกฎระเบียบอนุญาตให้นิสิตคณะนั้น ๆ แต่งกายด้วยชุดสุภาพเข้าเรียนแทนได้แล้ว แต่ในการสอบก็ยังคงบังคับให้นิสิตทุกคนแต่งกายตามระเบียบเข้าสอบอยู่ ทว่าอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในบทสัมภาษณ์อย่างเสรีครั้งนี้ยังมีเพื่อนจากคณะที่ “ยังคง” เข้มงวดในการบังคับให้นิสิตคณะนั้นแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยเข้าเรียนอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่า

“เมื่อเราจบไปเราจะต้องกลายไปเป็นแม่พิมพ์ของชาติ”
“เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมไทย”
“ส่วนตัวเราไม่เห็นด้วยต่อการที่ต้องบังคับใส่ชุดนิสิตนะคะ เราถูกบังคับให้ใส่ชุดนิสิต เพราะเหตุผลที่ว่าเราต้องกลายไปเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม มันทำให้เรานึกถึงคำที่ใช้แทนวิชาชีพครูว่า ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ ซึ่งเรามองว่าครูไม่ใช่แม่พิมพ์ที่จะสามารถพิมพ์ให้เด็กเป็นไปตามเราได้แบบ ‘เป๊ะ ๆ’ ครูควรที่จะมีสิทธิ์แสดงความเป็นตัวเอง (Identity) เพื่อที่เด็กก็จะได้ค้นหาความเป็นตัวเองของตัวเด็กแต่ละคนได้เหมือนกัน”
Chulalongkorn University's uniform

ประโยคแสดงความเห็นปนอัดอั้นของเพื่อนนิสิตคณะครุศาสตร์จุฬาฯท่านหนึ่ง เมื่อคำว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” ถูกตีความในความหมายโดยกว้างจากสังคม เหมารวมถึงเสรีภาพในการเลือกสรรเครื่องแต่งกายและถูกตีตราเป็นธรรมเนียมว่า “ครูในอนาคต” จำเป็นต้องแต่งกายในเครื่องแบบ เพื่อสื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของวิชาชีพนี้ กระทั่งทำให้ลืมคิดไปถึงความเป็นตัวตนของเรา ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีและเป็นสิ่งพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต่างต้องค้นหา หากปราศจาก “แรงบันดาลใจ” จาก “ครู” นักเรียนจะสามารถค้นหาตัวตนของตนเองได้อย่างไร

“บางทีการแต่งตัวหรือการที่เราแสดงอะไรออกไป มันแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเรา ซึ่งในแต่ละบุคคล ๆ นึงก็จะแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว การที่ครูสามารถเป็นตัวของตัวเองและแสดงออกตัวตนนั้น ๆ ออกไปให้นักเรียนเห็น ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนได้เช่นกัน”

เพื่อนนิสิตคณะครุศาสตร์อีกท่านหนึ่งได้กล่าวเสริม และเสนอความเห็นต่ออีกว่า

“มองอีกมุมหนึ่งคือ อาจารย์หรือผู้ใหญ่เค้าอาจจะมองว่าใส่ชุดนิสิตมันน่ารัก มันดูเป็นระเบียบ แต่ชุดอื่นมันก็น่ารักได้เหมือนกัน ถ้าจะให้นิยามคำว่าน่ารักของแต่ละคนมันก็คนละแบบกันอยู่แล้ว”

Q: แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างที่หลาย ๆ คณะในรั้วจุฬาฯสามารถใส่ไปรเวทไปเรียนได้แล้ว แต่คณะครุศาสตร์ยังต้องบังคับแต่งกายชุดนิสิตมาเรียนอยู่?

“ตอนแรกที่รู้ว่าเพื่อนแต่งไปรเวทไปเรียนได้ เราก็รู้สึกอิจฉาค่ะ (หัวเราะ) ทำไมเพื่อนถึงใส่ไปรเวทไปเรียนได้ ทำไมเราต้องมานั่งรีดเสื้อก่อนที่จะไปเรียน ต้องเตรียมตัวหนึ่งคืนก่อนจะไปเรียน แล้วก็รู้สึกว่าทำไมคณะอื่นทำได้ แต่ว่าเราทำไม่ได้”

ในระหว่างบทสนทนาดังกล่าวนี้ ทำให้เราเห็นว่าเหตุผลคงไม่ได้มีเพียงแค่การต้องเตรียมตัวรีดชุดนิสิตก่อนไปเรียนเสียแล้ว เมื่อเพื่อนนิสิตครุศาสตร์อีกท่านหนึ่งได้ยกประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดนิสิตขึ้นมาเสริม

“เหมือนเราเคยได้ยินว่าเพื่อนที่ได้ทุนคือได้เป็นเงินไปใช้ เงินที่ได้มาก็ไม่สามารถเอาไปใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องเอาไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ ยิ่งแบบไม่ได้มีเงินเยอะ ก็ต้องเอาเงินทุนไปใช้กับหลาย ๆ อย่างมากขึ้น ซึ่งชุดนิสิตก็เป็นส่วนที่ใหญ่ที่ต้องแบ่งเงินไปซื้อ”

Q: คิดว่าคณะครุศาสตร์หรือคณะอื่น ๆ สามารถเปลี่ยนกฎข้อบังคับการแต่งกายเมื่อเข้าเรียนได้หรือเปล่า?

“เราว่าการที่จะเปลี่ยนทั้งหมดให้แบบไม่ใส่ชุดนิสิตเลยก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะว่ามันมีการยึดโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ อย่างน้อย ๆ เวลาไปเรียนที่คณะก็ให้ใส่ไปรเวทได้”
“ให้มันเป็น optional แบบถ้ามาเรียนก็ให้ใส่ชุดอะไรก็ได้”
“เราอยู่มาสองปีก็ยังไม่เห็นว่า กนค. (กิจการนิสิต คณะครุศาสตร์จุฬาฯ) ยกประเด็นเรื่องชุดนิสิตเป็นประเด็นหลัก เรายังไม่เคยเห็นในประเด็นนี้”
“เคยมีอาจารย์คณะหนึ่ง ท่านหนึ่งมาบอกกับเรา ถ้าให้มองการศึกษาไทยหรือว่ามองประเทศอย่างนี้ ให้มองที่ครุ (คณะครุศาสตร์) แล้วเราก็รู้สึกว่าเอ่อ…(นิ่งไปครู่หนึ่ง) ครุน่าจะต้องใช้เวลาพักใหญ่อ่ะที่จะเปลี่ยน (หัวเราะ)”
Chulalongkorn University's uniform
Chulalongkorn University's uniform

หลังจากประโยคดังกล่าวแล้ว ในวงสนทนาก็ตามมาด้วยเสียงหัวเราะทั้งจากผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์เอง และแน่นอนว่าเสียงหัวเราะดังกล่าวไม่ได้เป็นเสียงหัวเราะเพราะความตลกแบบปกติแต่อย่างใด แต่เป็นเสียงจากความ “ตลกร้าย” ที่เราทุกคนในวงสนทนาต่างรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องเสรีภาพการแต่งกายในคณะครุศาสตร์ยากมากเพียงใด

บทสนทนาอันหลากหลาย และเสียงเจื้อยแจ้วระหว่างการสัมภาษณ์ ยังคงดำเนินอยู่เรื่อย ๆ ในห้องวิชิตชัย กระทั่งมีเพื่อนใหม่จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมาร่วมวงสนทนาด้วยอีกคน แอล (ลัลนา รณกรกิจอนันต์) นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาฯ หลักสูตรสถิติ สาขาสถิติและวิทยาการข้อมูล ชั้นปีที่ 2 นิสิตจากอีกหนึ่งคณะที่ปัจจุบัน “ยังคง” เข้มงวดในเรื่องการแต่งกายชุดนิสิต

“มันเขียนไว้อยู่ในกฎนะ ถ้าสมมติว่าไม่ใส่ชุดนิสิตมา หรือใส่ชุดผิดระเบียบ เค้าจะหักคะแนน แล้วถ้าหักถึงเกณฑ์แล้วจะไม่ได้เกียรตินิยม แต่เราก็ยังไม่เคยมาเรียน onsite ขนาดนั้น ก็ยังไม่เคยโดนหักหรือโดนติว่าแต่งผิดระเบียบตรงไหน แต่ว่ามันมีเขียนอยู่ในกฎ มีถึงเรื่องสีผมด้วย ถ้าเป็นของปีหนึ่ง รองเท้าต้องเป็นรองเท้าหนังสีขาวล้วนเท่านั้น แต่พอปีสองก็สามารถใส่ได้เยอะขึ้น พวกทรงกระโปรง รองเท้ารัดส้นก็สามารถใส่ได้”
“เราไม่เคยเห็นเพื่อนหรือรุ่นพี่ใส่ชุดไปรเวทมาเรียนเลยนะ นอกจากเค้ามาทำกิจกรรม ไม่ได้เข้าห้องเรียน ถึงจะได้เห็นใส่ไปรเวทบ้าง”

แอลเล่าถึงข้อบังคับจากประสบการณ์ที่นิสิตสัมพันธ์ในคณะได้เคยส่งระเบียบการแต่งกายชุดนิสิตมาให้เมื่อตนอยู่ชั้นปี 1 และประสบการณ์ที่ไม่เคยเห็นนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีคนไหนใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียน

Chulalongkorn University's uniform


Q: คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีบังคับให้นิสิตต้องแต่งกายด้วยชุดนิสิตเข้าเรียนบ่อยแค่ไหน?

“ทุกครั้งที่เข้าคณะ ทุกครั้งที่มีเรียน”
“คณะบัญชีแบ่งเป็นสามภาค แอลอยู่ภาคสถิติ แต่จะมีภาคบัญชีที่จบไปเป็นผู้ตรวจบัญชี อันนี้เค้าจะเคร่งเรื่องกฎมาก เพราะงานมันก็เคร่งด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เค้าจะค่อนข้างเคร่งเรื่องกฎระเบียบ แต่งตัวให้เรียบร้อย”

Q: แล้วเห็นด้วยไหมกับเหตุผลดังกล่าวที่ต้องบังคับให้เราใส่ชุดนิสิตทุกครั้งที่เข้าเรียน?

“คิดว่าไม่ แบบปีที่แล้วเรียน online เราก็คงไม่ได้ใส่ชุดนิสิตนั่งเรียนอยู่หน้าคอม คือมันก็เรียนได้ สมมติแต่งไปรเวทมาเรียนกับไปรเวทที่ใส่อยู่บ้าน คือไปรเวทมาเรียนมันก็ต้องสุภาพกว่าอยู่แล้ว คือการใส่อะไรมามันก็ปกติ รู้สึกว่า common sense เราก็ไม่ได้แต่งตัวมา ‘ขายแซ่บ’ ในมหาลัย อย่างมากก็แบบเสื้อยืด กางเกง ไม่ได้ถึงขั้นที่จะดูว่าไม่สุภาพ คือไม่จำเป็นต้องมีกฎก็ได้”
“เคยเถียงกับเพื่อนผู้ชายในภาคเรื่องนี้ แล้วเพื่อนบอกว่า ‘ใส่ก็ดีนะ ไม่ต้องคิดว่าจะใส่อะไร หยิบออกจากตู้ ใส่ได้เลย’ แต่ uniform ผู้ชายผู้หญิงก็ไม่เหมือนกัน อาจจะอยากใส่มากขึ้นถ้าไม่ต้องติดกระดุมพวกนี้ แต่อย่างที่รู้คือชุดนิสิตผู้หญิงมันไม่ functional ไม่มีกระเป๋ากระโปรง ไม่มีกระเป๋าเสื้อ ไม่มีอะไรเลย เข็มขัดก็ไม่มีที่ร้อย กระดุมก็ไม่ใช่กระดุมสำเร็จรูป พระเกี้ยวก็ไม่รู้ว่าต้องติดตรงไหน มันยุ่งยาก แล้วมันเสียเวลา เล็บหักครั้งแรกเพราะร้อยกระดุม”

Q: ถ้าสมมุติว่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอนุญาตให้นิสิตใส่ไปรเวทมาเรียนได้แล้ว แต่ยังต้องใส่มาสอบอยู่มีความเห็นอย่างไรบ้าง?

“รู้สึกว่า ไหน ๆ ก็ให้ใส่ไปรเวทมาเรียนแล้ว ก็ให้ไปรเวทมาสอบด้วยได้มั้ย แล้วตารางสอบของมหาลัยมันจะติด ๆ กัน คือถ้าสมมติมีชุดนิสิตตัวเดียว ให้ใส่มาสอบมันก็ไม่สามารถซักทันได้ คิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องใส่ชุดนิสิตมาสอบ คนจะทำ (ข้อสอบ) ไม่ได้ ใส่ชุดอะไรมันก็ทำไม่ได้หรอก”

ตามมาด้วยเสียงหัวเราะจากคนทั้งวงสนทนา เพราะความตรงไปตรงมาของแอล และอาจเพราะความตลกร้ายที่ผู้อยู่ในวงสนทนาหลายคนต่างสัมผัสได้ หรือไม่ก็ต้องเคยประสบกับความรู้สึกนี้มาก่อนที่ว่า “คนจะทำไม่ได้ ใส่ชุดอะไรมันก็ทำไม่ได้หรอก”

นอกจากนี้แล้ว ในวงสนทนายังได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการบังคับใส่ชุดนิสิตทุกครั้งเมื่อเข้าสอบเพิ่มเติมอีกด้วย บ้างก็ได้ยกเหตุผลว่าอาจเพราะเรื่องการตรวจสอบที่ง่าย บ้างก็ได้ยกเหตุผลว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่จดจำได้ง่ายว่าเมื่อมาสอบจะต้องใส่ชุดนิสิต ไม่ต้องคิดมากว่าจะแต่งกายอย่างไร แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งนี่น่าสนใจและเป็นการเปิดประเด็นการตั้งคำถามที่ดีคือ “แล้วเราจะมีบัตรนิสิตไว้ทำไมกันนะ?”

Chulalongkorn University's uniform
“จริง ๆ ในอีกมุมหนึ่งคือ อาจารย์ที่สอนเรามาทั้งเทอม เรายืนยันตัวตนด้วยบัตรนิสิตแล้วมองหน้าเรา อาจารย์ก็คงจะแบบ รู้ว่านี่คือนิสิตในเซคฉัน มันก็ไม่ยากที่จะยืนยันตัวตน ไม่ขนาดต้องแต่งครบเซ็ตมาสอบ”

เพื่อนนิสิตคณะครุศาสตร์ได้พูดเสริม

ผ่านไปครู่หนึ่งไม่นาน แอลก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ความเข้มงวดในการตรวจเครื่องแต่งกายของนิสิตเมื่อมาสอบของคณะ

“ตอนสอบไฟนอล เราก็มาสอบ onsite เราก็ใส่ผ้าใบสีขาวมา แล้วก็ใส่ถุงเท้าที่ซื้อเตรียมไว้ แล้วถุงเท้าที่ซื้อมามันเป็นสีฟ้าลายตารางเพราะเราเอาไว้ใส่เล่นด้วย เป็นข้อสั้นแล้วถุงเท้าโผล่ออกมานิดนึง ตอนนั่งรถมาสอบก็คิดว่าถุงเท้าต้องเป็นแบบขาวล้วนรึเปล่านะ ก็เลยถามเพื่อนเพื่อนก็ตอบว่าใช่ ตอนนั้นก็เริ่มกังวลแล้วว่าควรไปซื้อถุงเท้าใหม่ดีมั้ย แต่ซื้อมามันก็ไม่ได้ใส่ เพราะจะจบปีหนึ่งแล้วด้วย ก็คิดว่ามันคงไม่มีใครเห็นหรอก พอเข้าไปนั่งสอบอาจารย์ก็ทักว่า ‘ปกติระเบียบต้องถุงเท้าขาวนะคะ’ แต่เค้าก็ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนตัวรู้สึกว่า วันนั้นถุงเท้าเราโผล่ออกมาน้อยมาก ๆ ๆ ยังอุตส่าห์เห็นอีก”

การสัมภาษณ์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างนั้น และได้มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับชุดนิสิตในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมีราคาสำหรับปัจจุบันและการสวมใส่ที่ค่อนข้างยุ่งยากในหลายแง่มุม ซึ่งหากในอนาคตชุดนิสิตจุฬาฯ จะเปลี่ยนให้กลายเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย สวมใส่ง่าย สวย และราคาไม่แพงแก่นิสิตทุกคนก็คงดีไม่น้อย แต่หากยังตราชุดนิสิตให้เป็นกฎข้อบังคับและมีการลงโทษระดับต่าง ๆ ก็ไม่ถือว่านิสิตทุกคนได้เสรีภาพในการแต่งกายอย่างสมบูรณ์

Chulalongkorn University's uniform

อย่างไรก็ตามแม้ชุดนิสิตจะมีปัญหาในประเด็นดังกล่าวเรื่องราคาและความยากง่ายในการสวมใส่ แต่สำหรับนิสิตบางกลุ่มก็ยังเห็นว่าชุดนิสิตใส่แล้วสวย หรือด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องคิดมากว่าวันต่อมาจะต้องแต่งกายอย่างไร อีกทั้งการใส่ชุดนิสิตเมื่อสวมใส่แล้วสังคมยังให้คุณค่าแก่ผู้ใส่ว่าเป็น “นิสิตจุฬา” ทั้ง ๆ ที่สังคมไม่ควรให้คุณค่ากับเครื่องแบบเครื่องแต่งกายของสถาบันไหน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่จุฬาฯ แต่ควรให้คุณค่าแก่เสรีภาพของบุคคลและวัดคุณค่าที่ตัวบุคคลนั้น ๆ เสียมากกว่า

ฉะนั้นแล้วจุฬาฯ ไม่ควรบังคับให้นิสิตใส่ชุดนิสิตเข้าเรียนและเข้าสอบ  แต่ควรเป็นเครื่องแบบอัตลักษณ์ของจุฬาฯ ที่นิสิตสามารถเลือกโดยสมัครใจว่าจะสวมใส่หรือไม่ ได้อย่างเสรี วันนี้อยากใส่ชุดนิสิตมาเรียน พรุ่งนี้อยากแต่งตัวสบาย ๆ แล้ววันต่อมาก็อยากแต่งชุดนิสิตหรือแต่งตัวตามความสมัครใจของตน

การไม่สวมใส่ชุดนิสิตไม่ได้หมายความว่านิสิตเห็นคุณค่าของเกียรติคุณจุฬาฯ น้อยลง แต่หมายถึงนิสิตแต่ละคนได้แสดงความเป็นตัวตนของนิสิตเองให้สังคมได้เห็นอย่างเสรี คุณค่าความเป็นตัวเองที่แต่ละคนมีไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนกัน หลากหลายและสวยงาม ซึ่งทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมใดก็ตามพึงมีแก่ตนเอง


บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2562, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต เล่มที่ 136 ตอนพิเศษที่ 267 ง (29 ตุลาคม 2562): 73.

นายกสภามหาวิทยาลัย. “ระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527 ข้อ 26 และ 27.” 30 มีนาคม 2527.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คู่มือนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564. กรุงเทพฯ: สำนักบริหารกิจการนิสิต. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2565.  http://www.sa.chula.ac.th/wp-content/uploads/2016/11/Handbook-AY64-optimize-1.pdf.





Related Post

Interview

ประวัติศาสตร์ชีวิตและความผูกพันที่มีต่อคณะรัฐศาสตร์ของ “พี่ปื๊ด”

เรื่อง Write to Raise

Interview

เนติวิทย์ จากนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย กับบทบาทใหม่ในฐานะพระสงฆ์

เรื่อง Write to Raise

Write for Rights

ฮิญาบ: สัญลักษณ์การถูกกดขี่ หรืออัตลักษณ์เครื่องแต่งกาย

เรื่อง Write to Raise

Write to Raise

Writing and Translating as Ways to Protect and Promote Democracy

ชมรมเขียนเปลี่ยนสังคมเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนิสิตที่มองเห็นปัญหาในสังคมรอบตัวและต้องการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ฯลฯ

Contact Us

[email protected]